xs
xsm
sm
md
lg

ดรามา! ค่านิยมขี้อวด “ร.ร.ปิดป้ายเด็กสอบติด ม.ดัง” ไม่ใช่ให้กำลังใจ แต่คือโฆษณาสถาบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีแต่โรงเรียนไทยที่ทำ! ถกสนั่น “ป้ายนักเรียนสอบติดมหาวิทยาลัย” ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ด้านกูรูระบบการศึกษาไทย ชี้ “สร้างความเหลื่อมล้ำ-สร้างค่านิยมแบบผิดๆ” ไม่ใช่แค่ป้ายที่ไม่ควรมี แต่ห้องคิงก็ควรยกเลิก!
ยินดีกับบางคน แต่เหยียบย่ำอีกหลายคน?!

“ผมได้ฝากเลขาธิการ กพฐ. ในเรื่องของโรงเรียนมัธยมที่มีการแข่งขันสูง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ให้นำนักเรียนที่สอบติดมาขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนว่าสอบติดคณะที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มชื่อเสียงให้โรงเรียน โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้”



กลายเป็นประเด็นพูดถึงในสังคม โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาไทย เมื่อ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หยิบประเด็น “การยกเลิกติดป้ายแสดงความยินดีแก่นักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย” ขึ้นมาพูดถึง ในการประชุม กพฐ.เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่อยากให้โรงเรียนให้ความสนใจเด็กเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องทันทีที่เรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ และนำมาซึ่งความคิดเห็นมากมาย แน่นอนว่าย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว โดยฝ่ายเห็นด้วยกับประธาน กพฐ. ให้คำตอบว่า การขึ้นป้ายนั้น เป็นเพียงหน้าตาของโรงเรียน แต่เบื้องหลังความสำเร็จมาจากความพยายามของตัวเด็กเองทั้งสิ้น รวมถึงการตอกย้ำเด็กอีกหลายคนที่ไม่สามารถสอบเข้าได้อีกด้วย



ส่วนฝั่งที่คิดเห็นตรงกันข้ามก็มองว่า อยากให้มีป้ายดังกล่าวต่อ เพราะถือว่าเป็นการชื่นชมเด็กนักเรียนถึงความขยันและตั้งใจในการสอบเข้าได้ โดยเฉพาะสายอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์
แล้วในมุมมองของผู้ที่คลุกคลีในวงการการศึกษาเช่นกัน จะมีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร? ทีมข่าว MGR Live จึงได้ต่อสายตรงไปยัง ดร.โกศล เพ็ชรสุวรรณ อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เขาได้ให้ความคิดว่าว่า “รู้สึกเห็นด้วย” ที่ไม่ควรนำป้ายแสดงความยินดี ต่อนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นติดตามรั้วโรงเรียน เพราะสิ่งนี้แฝงด้วยผลประโยชน์ของโรงเรียนเสียมากกว่า



เห็นด้วยเต็มที่เลยครับ ไม่อยากจะให้เอาป้ายโฆษณาหน้าโรงเรียนเลยครับ มันสร้างค่านิยมในประเทศไทย กลายเป็นว่า ทุกคนต้องเรียนแพทย์ หรือต้องเรียนวิศวะ ก็เลยเอานักเรียนที่สอบได้พวกนี้ขึ้นมา ว่า โรงเรียนของเราสอนเด็กได้ดี กลายเป็นการแข่งขันในเรื่องนี้ ทุกสาขาวิชามีคุณค่าทั้งนั้น แต่ทำยังไงได้ มันกลายเป็นแฟชันไปหมด เต็มไปด้วยป้ายหน้าโรงเรียน ไม่ดีเลย



ส่วนที่จะยกย่อง ยกย่องกันภายในโรงเรียน ไม่ต้องเอามาโฆษณาหน้าโรงเรียนครับ ควรจะมีบอร์ดของโรงเรียน ติดป้ายประกาศเพื่อจะให้กำลังใจนักเรียนคนอื่นๆ ว่าเพื่อนก็เรียนดีนะ เราจะขยันให้เหมือนกับเขา ให้กำลังใจนักเรียนก็ทำไป อยู่ภายในโรงเรียน ถ้าไปอยู่นอกโรงเรียนมันคนละเป้าหมาย คนละเจตนารมณ์แล้ว
มันไม่ใช่เพื่อตัวนักเรียนแต่เป็นการโฆษณาบุคลากร ตอนนี้ก็มีการพิจารณา ครูชำนาญการ ครูเชี่ยวชาญอะไรต่างๆ เป็นเรื่องผลงานของครู ก็มีการนับสิ่งเหล่านี้ด้วยเป็นส่วนหนึ่ง ครูจะได้เลื่อนชั้น มีแต่ประเทศไทยที่ทำ ป้ายนอกโรงเรียนควรจะทำให้มันเหมาะสม พอดิบพอดี ผมก็ไม่เห็นด้วยที่ติดป้ายโรงเรียนใหญ่โต ผมว่ามันสร้างค่านิยมที่ไม่ดีครับ”
ขณะที่ทางด้านของ อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้แก่ทีมข่าวว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของประธาน กพฐ. ไม่ใช่ขององค์กร และยังไม่ได้หารือ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ที่ควรเปลี่ยนคือคุณภาพการศึกษา!

“ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศญี่ปุ่นเขากำหนดห้องนึงไม่เกิน 30 คน บ้านเราค่านิยมเรื่องที่จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่เก่งๆ คนก็เข้าไปเรียนกันเยอะแยะ ห้องก็ต้องขยาย แทนที่จะสอน 30 คน ก็ต้องเปิด 40-50 คนขึ้นไป
ซึ่งมันไม่ได้ดีต่อคุณภาพการศึกษาเลยครับ จริงๆ แล้วทุกโรงเรียนควรจะส่งเสริมให้มีคุณภาพเท่าๆ กัน ถ้าโรงเรียนคุณภาพพอๆ กัน เรื่องการสอบแข่งขันก็คงไม่วุ่นวายเหมือนอย่างนี้
ไม่เพียงแค่ประเด็นของป้ายแสดงความยินดีเท่านั้น อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังสะท้อนไปถึงผลพวงจากป้ายดังกล่าว ซึ่งก็แน่นอนว่า สิ่งนี้ย่อมได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองที่กำลังมองหาที่เรียนต่อให้แก่ลูกๆ ของตน แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ระบบการศึกษาไทยเกิดความเหลื่อมล้ำตามมา




“พอโรงเรียนไหนดัง คนก็จะแห่กันส่งลูกไปเรียนที่นั่น เวลาจะไปเรียนพ่อแม่ก็ต้องขับรถไปส่ง ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็เหมือนกัน ทำให้รถติด เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย พ่อแม่ที่มีฐานะเท่านั้นที่จะสามารถขับรถไปส่งลูกได้ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลเลย
เรื่องความเหลื่อมล้ำนี่สำคัญ ถ้าพ่อแม่ฐานะไม่ดี โอกาสของนักเรียนก็ไม่เท่ากัน ซึ่งน่าเสียดายมาก ว่ากันจริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่าครูเรามีความสามารถ นักเรียนเราก็มีความสามารถ แต่การจัดการการศึกษาค่อนข้างจะสับสน ถ้าเราทำให้ดี ทุกโรงเรียนมีความสามารถใกล้เคียงกัน นักเรียนก็จะได้เรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้าน”
และสุดท้าย เขาได้ฝากอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันให้ได้ทบทวน นั่นก็คือ ความสำคัญกับนักเรียนแค่บางกลุ่มของโรงเรียนในประเทศไทย อย่างการแยกนักเรียนที่เรียนเก่งออกไปโดยเฉพาะ หรือที่คุ้นเคยกันว่า “นักเรียนห้องคิง” ซึ่งสิ่งนี้ก็ควรจะยกเลิกไปด้วยเช่นกัน
“ผมเชื่อว่าไม่ควรจะแบ่งแยกเด็กเป็นห้องเก่ง ห้องคิง มันอาจจะเป็นค่านิยมว่าเอาเด็กเก่งๆ มาอยู่ห้องเก่ง ครูเขาก็สอนง่าย ส่วนเด็กที่ไม่เก่ง ก็ไปเรียนในห้องที่ไม่เก่ง ก็จะทำให้ไปเสียเปรียบหรืออะไรต่างๆ ผมมองว่า เด็กในห้องต้องคละกัน จำนวนเด็กไม่ควรจะมาก และครูต้องรู้จักเด็กทุกคนที่เรียน”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ สพฐ.”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น