ท่ามกลางกระแสตู้ปันสุขและปรากฏการณ์แบ่งปันอาหารที่มีให้เห็นในหลากหลายชุมชนทั่วประเทศไทยในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันในสังคมไทยและความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในประเทศ
การช่วยกันแบ่งปันอาหารให้ผู้ขาดแคลนหรือสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารอาหาร กลุ่มชุมชนหรือองค์กรการกุศลที่มอบอาหารให้กับกลุ่มประชากรผู้เปราะบาง การแสดงน้ำใจให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นเรื่องสำคัญในภาวะวิกฤติที่เรากำลังเผชิญร่วมกัน นับเป็นหนึ่งในคำแนะนำหลักขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติต่อทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก เหตุการณ์วิกฤติและภัยพิบัติทุกครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ แต่เมื่อเราต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ทุกอย่างอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะเริ่มผ่อนคลายลงไป แต่เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่าไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและภาวะการว่างงานที่รุนแรงอย่างยิ่ง แมวเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายได้ที่เคยหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต้องหายไปทันทีเมื่อรัฐบาลประกาศห้ามเปิดสถานบริการประเภทต่าง ๆ เมื่อมีเงินเก็บเหลือเพียงน้อยนิด เธอจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะวิกฤตินี้
เวลา 10 โมงเช้าวันนี้ ป้านุ้ยออกจากบ้านไปที่ตรอกวัดกัลยาณ์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านย่านฝั่งธนเพื่อไปรับอาหารจากธนาคารอาหารปันอิ่ม ซึ่งจัดเตรียมไว้แล้ว วันนี้มีอาหารประกอบด้วยโจ๊กหมู ไข่ไก่สด นม กล้วยหอม ไม่ได้มีแค่ป้านุ้ยแต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกันมารับอาหารและข้าวของเครื่องใช้จากธนาคารอาหารด้วยเช่นกัน
“ข้าวของที่เรานำมาปันอิ่มอาจไม่ได้มีมากมายแต่เราสามารถแบ่งปันให้ผู้คนประมาณ 50 คนในวันนี้ได้อิ่มท้องและผ่านเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้” อนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้ริ่เริ่มโครงการธนาคารปันอิ่มให้เป็น “พื้นที่เพื่อการแบ่งปัน” และสร้างความมั่นคงทางอาหารเพราะอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์
ในมุมมองของอนันตโชค แม้ว่ากรุงเทพฯจะเป็นเมืองหลวงที่มีอาหารหลากหลาย เลือกหาได้ง่ายเพียงแค่สั่งผ่านสมาร์ทโฟน แต่ในแง่ของความมั่นคงทางอาหารแล้ว กรุงเทพฯมีความเปราะบางสูงมากเพราะพื้นที่เพื่อการผลิตมีน้อยและคนส่วนใหญ่ต้องซื้ออาหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นน้ำท่วมหรือวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนหาเช้ากินค่ำ ทั้งงาน-เงินต้องสะดุดกะทันหันแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
“การแบ่งปันอาหารให้กับผู้ที่กำลังต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากอยู่ในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสัญญาณเตือนว่าเราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้เสมอและสร้างเครือข่ายเพื่อความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือชนบทก็ตาม” อนันตโชคกล่าว
ผลผลิตที่นำมาปันอิ่มไม่ว่าจะเป็นข้าว นม ผัก ผลไม้ ไข่ ฯลฯ ล้วนมาจากสมาชิกในเครือข่ายธนาคารอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติ ถูกพัฒนาจากแนวคิด “ธนาคารอาหารชุมชน” จากความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผลผลิตที่ปราศจากสารเคมีดีต่อสุขภาพด้วยการจัดทำระบบรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System) ผู้ประกอบการที่ทำกิจการประกอบการสังคม (Social Enterprise) ผู้บริโภค (Consumer) องค์กรอิสระ และ องค์กรภาครัฐ ที่จับมือร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อาหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อน ภายใต้ความไว้วางใจกันในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ซอยวัดกัลยาณ์ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ตอนนี้มีธนาคารอาหารปันอิ่มกระจายอยู่ 15 จุด ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งชัยภูมิ จันทบุรี นครศรีธรรมราชและปันอิ่มไปแล้วมากกว่า 11,500 อิ่มภายในระยะเวลาเพียงแค่เดือนเดียว
การปันอิ่มไม่เพียงแค่มีอยู่ในชุมชนเมืองเท่านั้น ในพื้นที่อำเภอสอยดาวรอยต่อชายแดนไทย-กัมพูชามีการแบ่งปันอาหารให้กับแรงงานไทยและข้ามชาติที่เดินทางกลับบ้านที่ไม่มีงานทำ พระภิกษุสงฆ์และคนไข้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปะตงด้วย แพทย์หญิงอาภรณ์ แสงเฉยในฐานะชาวสวนผู้ผลิตอาหารและผู้นำเครือข่ายธนาคารอาหารปันอิ่มในพื้นที่กล่าวกว่า เครือข่ายมีอาหารที่หลากหลายทั้งกล้วย มะพร้าว เห็ด ไข่ ผักโปรตีนสูงอย่างผักไชยาและสมุนไพรอย่างกระเทียม หอม กระวานซึ่งเป็นสมุนไพรดั้งเดิมในพื้นที่สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้สามารถนำกลับไปประกอบอาหารที่บ้าน
สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ต่างจากสมัยวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ประเทศไทยครั้งนั้นผู้คนเมื่อตกงานก็กลับบ้านไปอยู่ภาคการเกษตร แต่ปัจจุบันคนที่อยู่ภาคการเกษตรลดลงอย่างมากและซ้ำร้ายภาคการเกษตรยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ขายเพื่อให้ได้เงินได้กำไร ผลคือปัญหาความมั่นคงทางอาหารของไทยก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณ
“การเป็นครัวของโลกไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยทุกคนจะสามารถเข้าถึงอาหาร สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีความเปราะบางเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างยิ่งเพราะผูกเชื่อมไปแล้วกับเศรษฐกิจและห่วงโซ่อาหารที่รวมศูนย์อยู่ในระบบการค้าสมัยใหม่” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าว
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนว่าวิกฤติครั้งนี้อาจทำให้ห่วงโซ่อาหารถูกปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลันและส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทั้งชาวนา กระบวนการผลิต การขนส่ง และผู้บริโภค การหยุดชะงักของระบบห่วงโซ่อาหารอันเป็นผลมาจากการบริหารและการดำเนินนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพจะยิ่งเพิ่มความทุกข์ยากลำบากให้กับประชาชน ดังนั้นต้องสร้างความมั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานในประเทศและระหว่างประเทศยังสามารถเดินหน้าต่อโดยปราศจากการกีดกันทางการค้าหรือข้อบังคับใด ๆ
เอฟเอโอให้คำแนะนำว่า ผู้กำหนดนโยบายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมต้องทำงานร่วมกันเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าห่วงโซ่การผลิตและจำหน่ายอาหารยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
แม้ว่าชุมชนต่างจังหวัดที่ยังคงเพาะปลูกและทำการเกษตรแบบผสมผสานอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนเมืองเพราะสามารถเข้าถึงอาหารที่หลากหลายที่เป็นผู้ผลิตเองและยังแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ สิ่งที่เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบคือการไม่สามารถนำพืชผักผลผลิตการเกษตรตนเองออกไปขายได้ “เรื่องผักไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยเพราะเป็นส่วนประกอบครึ่งหนึ่งของจานอาหารเราในแต่ละมื้อทีเดียว,” ผอ. ไบโอไทยกล่าวเพิ่มเติมพร้อมแนะว่า ‘รถพุ่มพวง’ คือหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนของการทำให้ห่วงโซ่อาหารและการผลิตยังดำเนินไปได้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังได้เข้าถึงอาหารที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องออกไปนอกบ้านแล้วเสี่ยงกับการติดโควิด -19
โลกออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งที่ที่เราสามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ “เทใจดอทคอม” คือองค์กรไม่หวังผลกำไรที่จัดตั้งเพื่อการระดมทุนช่วยเหลือสังคมในลำดับต้น ๆ ที่ได้ประกาศโครงการช่วยเหลือให้กลุ่มประชากรผู้เปราะบางเข้าถึงอาหารได้ในภาวะโควิด-19 ด้วยการส่งต่อชุดยังชีพให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวรายได้น้อย อาหารให้คนไร้บ้าน กองทุนฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่แนวหน้า ถุงยังชีพของเทใจมีความพิเศษคือไม่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประกอบไปด้วยข้าวสาร เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร ปลาแห้ง หอม กระเทียม ยารักษาโรคเพราะกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ยังคงประกอบอาหารรับประทานเองจะได้ไม่ต้องออกไปนอกบ้านและเสี่ยงต่อการติดโควิด
นอกจากถุงยังชีพสำหรับประชากรผู้เปราะบาง เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอมกล่าวเพิ่มเติมว่าเทใจยังมีโครงการแจกคูปองอาหารให้กับผู้อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพรับจ้างและมีรายได้รายวันได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติครั้งนี้ทำให้ไม่มีทั้งงานและรายได้ โครงการคูปองอาหารจะช่วยทั้งผู้ที่ตกงานให้อิ่มอย่างที่ตนเองอยากทานเพราะสามารถนำคูปองไปให้กับร้านอาหารที่อยากทานได้ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าและเศรษฐกิจเล็ก ๆ ในชุมชนยังสามารถหมุนเวียนต่อไปได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
“ตู้ปันสุข” ที่กระจายไปตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศนับเป็นปรากฏการณ์เชิงบวกและสร้างสรรค์สังคมแห่งการแบ่งปันของคนไทยให้ดำเนินต่อไปได้อย่างน้อยในระยะสั้น ๆ แต่ทางออกระยะยาวแล้ว การรู้จักพึ่งพาตัวเองและสร้างเครือข่ายเพื่อการผลิตอาหารอาจเป็นคำตอบที่ยั่งยืนของประเทศไทยหลังภาวะโควิด-19
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” ผู้อำนวยการมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่าการเข้าถึงอาหารเป็นประเด็นลำดับต้น ๆ ในภาวะวิกฤติครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ยังไม่สายหากคนไทยหันกลับมาเรียนรู้ระบบการพึ่งพาตัวเองตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เราทุกคนควรเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร รู้จักเรียนรู้ในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเอง ครอบครัวและชุมชน จากนั้นก็เริ่มสร้างเครือข่ายธนาคารอาหารเพื่อการแลกเปลี่ยนอาหารที่ตนไม่สามารถผลิตได้เช่นชาวนาภาคอีสานแลกเปลี่ยนปลาทะเลกับชาวประมงภาคใต้ หลายชุมชนได้เริ่มสร้างเครือข่ายเหล่านี้โดยมีมูลนิธิเป็นเวทีกลางในการสื่อสารให้เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาว
“วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้คือเล็กเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง หากเรารู้จักปรับตัว เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกันในเรื่องเล็ก ๆ อย่างอาหารก็จะทำให้เรามีความมั่นคงทางอาหารและผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้” อ.ยักษ์กล่าว