xs
xsm
sm
md
lg

ชาวชุมชนและคนเชียงใหม่ร่วม “ฮอมแรง-ฮอมต้นกล้า” งาน “ผ้าป่าสวนผักคนเมือง” ลงแปลงปลูกกล้าต้นแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค สวนผักคนเมืองเชียงใหม่-Chiangmai Urban Farm
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ และชาวชุมชนร่วม “ฮอมแรง-ฮอมต้นกล้า” งาน “ผ้าป่าสวนผักคนเมือง” ลงแปลงปลูกกล้าต้นแรกบนพื้นที่โครงการ “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่” ผลักดันสร้างแหล่งความมั่นคงทางอาหารยั่งยืนและพื้นที่สีเขียวเชิงคุณภาพกลางเมือง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค สวนผักคนเมืองเชียงใหม่-Chiangmai Urban Farm

วันนี้(10 พ.ค.63) ที่บริเวณพื้นที่สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ข้างสุสานช้างคลาน ถนนประชาสัมพันธ์ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายภาคีภาคประชาชนในเชียงใหม่ที่ผลักดันขับเคลื่อนโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดงาน“ผ้าป่าสวนผักคนเมือง” และกิจกรรม “ฮอมแรง – ฮอมต้นกล้า”


โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอัสนี บูรณุปกรณ์ เลขานุการส่วนตัวนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำชาวชุมชนและประชาชนผู้สนใจร่วมกันลงแปลงปลูกต้นกล้าต้นแรกเป็นต้นกล้วยบนที่ดินสวนผักคนเมือง เพื่อเป็นจุดเริ่มของการส่วนร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับทำประโยชน์ด้านการเกษตร ปลูกผัก เป็นแหล่งผลิตอาหารสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวเมืองเชียงใหม่ และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่เมือง


ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่-Chiangmai Urban Farm”
นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ผู้ร่วมก่อตั้ง ใจบ้าน สตูดิโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคีที่ผลักดันขับเคลื่อนโครงการ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นเหมือนการเริ่มต้นโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นกิจลักษณะ โดยโครงการนี้มีจุดเริ่มมาจากในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นปัญหาและความเดือดร้อนของผู้คนในชุมชนต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ที่ต้องตกงานและสูญเสียรายได้ไป เพราะส่วนใหญ่ทำงานภาคบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้นซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายเกินครึ่งของแต่ครัวเรือนเป็นค่าอาหาร ประกอบกับเห็นว่าในเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่สาธารณะรกร้างอยู่หลายจุดที่น่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวให้แก่ผู้คนและชุมชนเมืองได้ จึงปรึกษาหารือกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตรงนี้ประมาณ 3 ไร่ จัดทำโครงการนำร่องระยะเวลา1ปี

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ค สวนผักคนเมืองเชียงใหม่-Chiangmai Urban Farm
จากนั้นทางเครือข่ายภาคีที่มีความถนัดในแต่ละด้านได้ชักชวนระดมความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ตรงนี้โดยหวังให้เป็นจุดตั้งต้นให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นมากกว่าแค่การปลูกผัก แต่ยังเป็นแหล่งอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในเมืองที่สามารถนำไปทำได้เองในพื้นที่บ้านหรือชุมชนด้วย เพราะด้วยพื้นที่ปลูกเพียง 3 ไร่ ปริมาณผลผลิตที่ได้ย่อมไม่เพียงพอเลี้ยงคนทั้งเมืองได้อยู่แล้ว

ดังนั้น ความคาดหวังที่มากกว่านั้นคือการทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนที่จะได้เข้ามีส่วนร่วมและทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่สีเขียวในเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นแหล่งอาหารด้วย ซึ่งตามแผนงานพัฒนาพื้นที่แห่งนี้นั้น หลักจะทำการปลูกพืชผลไม้และผักรากลึกเก็บยอดกินได้ซึ่งปลูกครั้งเดียวและดูแลง่าย พร้อมทั้งจัดพื้นที่แปลงปลูกผักให้คนในชุมชนและคนไร้บ้านมาช่วยกันปลูกและดูแล รวมทั้งจัดพื้นที่ในการเลี้ยงไก่แบบปล่อยเพื่อเก็บไข่กิน และสร้างศาลาไม้ไผ่เป็นพื้นที่อาคารส่วนกลางในการทำกิจกรรม

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “สวนผักคนเมืองเชียงใหม่-Chiangmai Urban Farm”
ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินงานนั้น นายศุภวุฒิบอกว่า จากการประเมินโครงการนี้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งได้เปิดระดมทุนและได้รับการสนับสนุนเข้ามาจำนวนหนึ่งแล้ว เบื้องต้นในส่วนของค่าที่ดิน รวมทั้งค่าไฟฟ้าและน้ำประปาทางเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบให้

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการกำลังดำเนินการเจาะน้ำบาดาลเพื่อใช้เอง และเตรียมดำเนินงานต่อเนื่องในส่วนของการสร้างโรงเรือน, การวางระบบท่อ, การจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชหรือต้นกล้า และพันธุ์สัตว์ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเป็นเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถสนับสนุนเป็นกล้าพันธุ์พืชหรือผัก, วัสดุอุปกรณ์ หรือแม้แต่องค์ความรู้ถ่ายทอดก็ได้


ด้านนางอุษณีย์ แก้วมูล รองประธานชุมชนหัวฝาย และตัวแทนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดค่าครองชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นปัญหานี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาในชุมชนต่างมีการปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ กันอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเงินทุน

ดังนั้นจึงร่วมผลักดันโครงการนี้ที่มีการนำพื้นที่สาธารณะรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ในการเป็นพื้นที่แปลงปลูกผักและถ่ายทอดความรู้เรื่องการเกษตรให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ชักชวนคนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการลงแรงและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผัก หรือกล้าพันธุ์เท่าที่มีแล้วมาร่วมกันปลูก โดยผลผลิตที่ได้ในอนาคตจะนำมาแบ่งปันกันเพื่อบริโภคในครัวเรือนและหากมีส่วนที่เหลืออาจจะขายเพื่อนำเงินเข้าสมทบใช้ประโยชน์ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้มองด้วยว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์มากกว่าแค่ลดค่าครองชีพ แต่ยังเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมให้รู้จักการพึ่งพาตัวเองและรู้จักแบ่งปันด้วย


ขณะที่นายวิเชียร ทาหล้า ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครือข่ายภาคีที่ร่วมผลักดันขับเคลื่อนโครงการ กล่าวว่า เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะเป็นทีมปฏิบัติการ เนื่องจากมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของการจัดการสวนผักในเมืองที่เข้าไปส่งเสริมตามชุมชนต่างๆ มาก่อนและจากการส่งเสริมให้คนไร้บ้านในเครือข่ายที่อยู่ด้วยกันในบ้านพักพิงปลูกผักอินทรีย์ไว้ปรุงอาหารรับประทานเอง

ทั้งนี้ มองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่ทุกคนจะได้มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น เป็นที่แลกเปลี่ยนพันธุ์พืชหรือผัก, เป็นแหล่งความรู้ หรือเป็นแหล่งเพาะกล้า เป็นต้น โดยโครงการนี้นอกจากคนในชุมชนที่เข้าร่วมแล้ว ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อเพิ่มทักษะสร้างอาชีพฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพตัวเองและรู้จักการเข้าสังคม รวมทั้งจะมีรายได้จากการจ้างให้ทำงานในพื้นที่โครงการด้วย ดังนั้นพื้นที่ตรงนี้จึงจะเป็นมากกว่าแค่สวนผักเท่านั้น


สำหรับโครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่นั้น เกิดจากการขับเคลื่อนของเครือข่ายและภาคีร่วมสนับสนุน ได้แก่ เครือข่ายชุมชนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา, เครือข่ายคนไร้บ้าน, เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่, เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่, เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองเชียงใหม่, ใจบ้านสตูดิโอ, Spark U Lanna, กลุ่ม Green Ranger, เครือข่ายเขียวสวยหอม, ฮอมสุขสตูดิโอและกลุ่มสายใต้ออกรถ เพื่อเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารในเมือง จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครเชียงใหม่และจังหวัดเชียงใหม่ อนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่รกร้างว่างเปล่าข้างสุสานช้างคลาน ประมาณ 3 ไร่ ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้ดำเนินโครงการเป็นระยะเวลาเบื้องต้น 1 ปี จากนั้นจะประเมินผลอีกครั้ง



นางอุษณีย์ แก้วมูล



นายวิเชียร ทาหล้า


กำลังโหลดความคิดเห็น