สธ.เผย กทม.ติดโควิดน้อยลงจริง ค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง ทั้งบุคลากรคลินิกชุมชนอบอุ่น ชุมชนแออัดคลองเตย 3 หมู่บ้านจัดสรร คอนโด 2 เรือนจำ รวมมากกว่า 4 พันเคส ไม่พบการติดเชื้อ แต่ยังมีความเสี่ยงระบาดใหม่จากคนเดินทางต่างประเทศและต่างจังหวัด และการผ่อนปรนกิจการ ต้องคงมาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ
วันนี้ (9 พ.ค.) นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 9 พ.ค. มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 4 ราย โดยมี 1 ราย มาจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงคิดว่า กทม.มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด แม้จะไม่พบผู้ป่วยมาหลายวันแล้ว โดยมาตรการที่ดำเนินการใน กทม.ขณะนี้ หลังการระบาดเริ่มลดลงและมีการผ่อนปรน คือ การค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ คือ 1. ผู้ให้บริการสาธารณะที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดกลุ่มอื่นได้ เช่น ขนส่งสาธารณะ แท็กซี่ ส่งของต่างๆ 2. บุคลากรทางการแพทย์ 3. กลุ่มผู้ต้องขังแรกเข้า 4. กลุ่มซ่อนเร้น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชุมชนแออัด และ แรงงานต่างด้าว
“กทม.มีชุมชนแออัดจำนวนมาก และเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ มีคนเป็นหลักแสน เช่น ชุมชนแออัดคลองเตย ที่เข้าถึงได้ยาก จึงร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานในพื้นที่ และ กทม.เข้าค้นหาเชิงรุก เพื่อมั่นใจว่ามีผู้ป่วยหลงเหลือตกค้างในชุมชนหรือไหม ส่วนแรงงานต่างด้าว มีลิสต์แรงงานเข้ามาแล้วที่จะตรวจเพิ่มเติม กำลังร่วมกับ กทม.ดำเนินการ” นพ.ปรีชา กล่าวและว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ มีการตรวจในคลินิกชุมชนอบอุ่นของ กทม. แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่บุคลากรคนใดตรวจพบเชื้อ
นพ.ปรีชา กล่าวว่า กลุ่มที่จะเข้ามาแพร่เชื้อใน กทม.ได้ คือ กลุ่มที่มาจากต่างประเทศ กับกลุ่มที่ย้ายมาจากพื้นที่เสี่ยง คือ ภูเก็ต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ 2 กลุ่มนี้เมื่อเดินทางมาจะถูกกักในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด ทั้ง State Quarantine และ Local Quarantine ถ้าทำได้ดี ก็จะนำเชื้อเข้ามาใน กทม.และประเทศไทยน้อยลง ทำให้เรามีแนวทางควบคุมไม่ให้เกิดระบาดได้ นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการทางสังคม สวมหน้ากาก ล้างมือ ระวังกิจกรรมสังคมร่วมกัน เพราะถ้ายังเสี่ยงอยู่ การระบาดเฟสถัดไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้
นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้มี State Quarantine 23 แห่ง และ Local Quarantine ใน 12 เขตสุขภาพรองรับได้ 13,491 คน รับผู้เดินทางจากต่างประเทศไว้สังเกตอาการประมาณ 10,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 87 ราย แยกเป็น State Quarantine 21 ราย และ Local Quarantine 66 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางจากประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ซึ่งหากไม่กักตัวไว้สังเกตอาการ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคได้ อาจมีผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ราย ทั้งนี้ ยังต้องคงมาตรการกักกันผู้เดินทางจากต่างประเทศให้ครบ 100% เพื่อลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ และต้องเข้มมาตรการเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อในประเทศ ลดการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับที่ระบบรองรับได้
ด้าน นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวว่า การป้องกันการระบาดระลอกที่ 2 คือ ป้องกันการนำเชื้อเข้าจากต่างประเทศ โดยมีสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ หน่วยบริการกิจการต่างๆ ที่จะเปิดต้องมีมาตรฐานรองรับ อีกด้านหนึ่งคือผู้ป่วยที่ลดลงต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ จึงดำเนินการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มต่างๆ โดยใช้แอปพลิเคชันclicknic มาใช้คัดกรอง สามารถวิดีโอคอลปรึกษาอาการกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น ไม่ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล หากพบความเสี่ยงจะแนะนำเข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ โดยดำเนินการดังนี้
1. ชุมชนแออัดที่เปราะบางมากๆ โดยเลือกที่ชุมชนแออัดคลองเตยมีประชากร 1.2 แสนคน มีชุมชนจัดตั้งและไม่จัดตั้งตามกฎหมาย 45 ชุมชน ได้ร่วมกับอาสาสมัครสาธารรสุข กทม. เอ็นจีโอ วัดในพื้นที่ ภาครัฐ เจาะเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาเรื่องขัดแย้ง การเมือง วัฒนธรรมที่หลากหลาย 16 ชุมชน ประชากร 9,500 คน โดยให้ตอบแบบสอบถาม 7,500 คน แล้วคัดกรองผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค พบ 275 ราย จึงนำมาตรวจเชื้อ โดยผลออกเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว เป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญว่า สถานการณ์การระบาดในพื้นที่ชุมชนแออัดอยู่ในวงจำกัดหรือควบคุมได้
2. หมู่บ้านจัดสรร ซึ่งไม่มีกลไกภาครัฐเข้าไป เพราะเป็นนิติบุคคล เข้าไม่ถึง มีรั้วกั้น ไม่รู้สถานการณ์แท้จริง ก็ใช้โมเดลอาสาสมัครแบบคลองเตยเข้าไปใน 3 หมู่บ้านจัดสรร นำแอปพลิเคชัน clicknic มาใช้คัดกรองพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 300 กว่าราย ตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ แสดงว่าการระบาดยังไม่เจาะลงในพื้นที่ที่เราเข้าไม่ถึง
3. คอนโดมิเนียม มีความเป็นเมือง อยู่เป็นตึกเป็นชั้น ห้องใครห้องมัน ระบบข้อมูลการรายงานของโรคเข้าไม่ถึงหน่วยงานภาครัฐ จึงใช้อาสาสมัครคอนโด เข้าไปร่วมคัดกรอง ทำแบบสอบถาม ผ่านเข้าไลน์กรุ๊ปคอนโด และตรวจเชื้อก็ไม่พบการติดเชื้อ และ 4.เรือนจำ 2 เรือนจำ ก็ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน รวมถึงกลุ่มบุคลากรในคลินิกชุมชนอบอุ่นและกลุ่มพนักงานสาธารณะ ซึ่งไม่พบการติดเชื้อ
“สถานการณ์ใน กทม.ถือว่าลดลงจริงในชุมชน ในกลุ่มเปราะบาง ประชาชนทั่วไป แม้สถานการณ์ในทิศทางดี แตก็ยังมีความเสี่ยง คือ คนเข้ามาในประเทศ เชื้ออาจซ่อนเร้นบางจุดที่ยังไม่พบ อยากให้คงมาตรการหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างต่อไป จะช่วยลดการระบาดได้” นพ.เอนกกล่าวและว่า ทั้งนี้ จากการลงตรวจกลุ่มเสี่ยงใน กทม. 4,820 ราย และสถานที่เสี่ยง 1,152 ราย ไม่พบการติดเชื้อ