xs
xsm
sm
md
lg

สุดเจ๋ง! นศ.สารพัดช่างสุรินทร์ สร้าง “เครื่องถอดถุงมือแพทย์” เสริมทัพนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือได้ว่าเป็นนักรบชุดขาวที่เป็นด่านหน้าในการรับและดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโรคจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า เครื่องถอดถุงมือแพทย์ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์ หรือบรรเทาสาธารณภัยของทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ (Honor Award) ระดับชาติ จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกหลายภาคส่วนได้เล็งเห็นศักยภาพและการันตีผลงาน และรางวัลเหรียญเงินจากการประกวด Thailand New Gen Inventors Award 2020 ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเตรียมกำลังคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ผู้ใช้ในชุมชุน สังคม และภาคอุตสาหกรรม

นายภูธเนศ มากแสน หรือ น้องนน นักศึกษา ชั้น ปวส.2 สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ เล่าว่า จากการศึกษางานวิจัยพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน มีโอกาสติดเชื้อจากการปฏิบัติงานได้มากกว่าร้อยละ 80 โดยเกิดจากเลือดและสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานควรมีความรู้ และความเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัส สิ่งคุกคามและอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน ดังนั้น การสวมถุงมือจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากการสัมผัสขณะทำการรักษาผู้ป่วย แต่การถอดถุงมือที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หลังการปฏิบัติงานเสร็จแล้วนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคจากการกระเด็น หรืออุบัติเหตุจากการถอดถุงมือ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งการถอดถุงมืออย่างถูกวิธีสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ โดยการถอดถุงมือจะถอดข้างใดก่อนขึ้นอยู่กับความถนัด แต่การปฏิบัติที่สำคัญ ในการถอดถุงมือต้องระวังอย่าให้ด้านนอกของถุงมือสัมผัสกับผิวหนังหรือสิ่งอื่นใด และควรล้างมือหลังจาก ถอดถุงมือทุกครั้ง

จากแนวทางดังกล่าว ตนและเพื่อนๆ จึงคิดที่จะสร้างและพัฒนาเครื่องถอดถุงมือแพทย์ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีครูอักษรเพชร วิจิตรเรืองชัย ครูสาขาวิชาช่างกลโรงงาน และ ครูวิเชียรสวัสดิ์ แก้วมณี ครูสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง เป็นครูที่ปรึกษา และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสุรินทร์ โดยเริ่มจากเลือกใช้สเตนเลสที่มีมาตรฐานและคุณภาพดี ชนิด 304 ซึ่งเป็นสเตนเลสที่ใช้ในด้านการแพทย์และด้านอาหารโดยเฉพาะในการสร้างเครื่องถอดถุงมือทางการแพทย์นี้ และออกแบบให้มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหลักการทำงานคือ สามารถเปิด-ปิดได้อัตโนมัติ โดยเมื่อนำมือทั้งสองข้างที่สวมถุงมืออยู่สอดเข้าไปในเครื่องถอดถุงมือแพทย์ให้ตรงกับบริเวณที่มีตะขอของช่องทั้งมือซ้ายและมือขวา หลังจากนั้น ก็ดึงมือออกจากถุงมือ ระบบจะทำการเซ็นเซอร์ปิดฝาเครื่องเพื่อให้ถุงมือตกลงสู่ภาชนะรองรับ

จากนั้นแสงอัลตราไวโอเลต หรือ รังสียูวี จะทำการฆ่าเชื้อโรคถุงมือที่ใช้แล้วนี้ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานเก็บขยะระหว่างการจัดเก็บได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเครื่องถอดถุงมือแพทย์ ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและการบำรุงรักษา และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อ ขณะถอดถุงมือหลังการปฏิบัติงานเสร็จ ตลอดจนลดขั้นตอนการถอดถุงมือให้เหลือแค่ 2 ขั้นตอน ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 2.8 วินาที จากเดิมที่ต้องใช้วิธีถอดถุงมือถึง 5 ขั้นตอน ทำให้ต้องใช้เวลาในการถอดถุงมือเฉลี่ยถึง 8.7 วินาที ตลอดจนยังสามารถฆ่าเชื้อโรคจากขยะติดเชื้อได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจเครื่องถอดถุงมือแพทย์ สามารถติดต่อวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ โทร.086-247-1057










กำลังโหลดความคิดเห็น