อาชีวะใช้ความรู้ด้านนวัตกรรม ประดิษฐ์อุปกรณ์มาตรฐาน ช่วยเซฟบุคลากรทางการแพทย์
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้สถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่มีศักยภาพด้านการประกอบหุ่นยนต์ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ได้ประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อรับทราบความต้องการของแพทย์และพยาบาลในการผลิตอุปกรณ์ป้องกัน และสนับสนุนการปฏิบัติงานให้ทีมแพทย์และพยาบาล เกิดความปลอดภัยในขณะทำการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ โดยวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร นายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัย และ นายประมวล รอนยุทธ ครูชำนาญการพิเศษ สาขาช่างยนต์ ได้นำทีมครูช่างและนักศึกษา ช่วยกันทำหน้ากากเฟซชิลด์ที่ได้มาตรฐาน และนำองค์ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ และสิ่งประดิษฐ์มาสร้างหุ่นยนต์ส่งยาและอาหารให้กับผู้ป่วย
นายประมวล กล่าวว่า หน้ากากแบบกระจังหน้าที่เรียกว่า เฟซชิลด์ (face shield) ที่ได้มาตรฐาน กำลังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ จึงได้นำทีมครูช่าง และนักศึกษาช่วยกันทำเฟซชิลด์ที่ได้มาตรฐานตามที่ทางการแพทย์ต้องการ คือ หน้ากากต้องมีความคงทน ครอบคลุมได้ 180 องศา เพราะแผ่นที่ทำจากพลาสติกทั่วไป มีขนาดเท่ากับกระดาษ เอ4 ไม่สามารถกันละอองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เวลาโดนลมจะปลิว รูปแบบเฟซชิลด์ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร แผ่นกระจังหน้าจะใช้แผ่นอะคริลิกหนา 3 มิลลิเมตร ใช้วิธีตัดให้เป็นกรอบกระจังด้วยเลเซอร์ เวลาโดนลมจะไม่ปลิว ใส่ได้นาน ไม่ปวดตา และโครงด้านบนที่สวมกับศีรษะ ใช้วัสดุพีวีซี หนา 0.5 มิลลิเมตร เพื่อให้เกิดความกระชับ ไม่เลื่อนหลุด เมื่อใช้งานเสร็จแล้วสามารถนำไปอบฆ่าเชื้อ หรือใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดได้ ขณะนี้ได้ส่งให้หน่วยงานที่ต้องสัมผัสกับคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมทั้งส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้จำนวน 4,000 ชิ้นแล้ว
นายณรงค์ กล่าวว่า นอกจากวิทยาลัยเทคนิคสกลนครจะทำเฟซชิลด์ ที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังได้มอบให้ นายประมวล รอนยุทธ กับทีมครูช่างและนักศึกษา ประดิษฐ์หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารให้กับผู้ป่วยที่ต้องอยู่ห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาลสกลนคร เพื่อลดการใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่มีจำนวนจำกัดและใช้ได้เพียงครั้งเดียวก็ต้องทิ้งไป ซึ่งขณะนี้ได้นำหุ่นยนต์ไปใช้งานแล้ว เป็นหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยจอยสติก (Joystick) และกำลังจะผลิตเพิ่มเติมโดยเปลี่ยนจากการควบคุมด้วยจอยสติก (Joystick) ให้เป็นหุ่นยนต์เดินตามเส้น เพราะเห็นว่าการใช้จอยสติก (Joystick) เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และพยาบาล ยังใช้ไม่ถนัด ต้องมีการศึกษาและลองใช้เพื่อให้เกิดความคล่อง ทำให้เสียเวลา ส่วนหุ่นยนต์ที่กำลังประดิษฐ์นี้จะเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติเคลื่อนที่โดยเดินไปตามเส้น เพื่อไปส่งยาและอาหารให้กับผู้ป่วยได้เองตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ แต่ละจุดจะหน่วงเวลาให้หุ่นยนต์หยุดได้ 10 วินาที หรือให้หยุดก่อนเข้าห้องผู้ป่วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพยาบาลได้พูดคุยหารือกันก่อน เมื่อหุ่นปฏิบัติงานเสร็จก็จะเดินกลับมาที่ห้องควบคุมเอง และจะเพิ่มเติมโดยการติดตั้งกล้องและจอมอนิเตอร์ที่ตัวหุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นทีมงานแพทย์ และพยาบาลได้