xs
xsm
sm
md
lg

“วีรศักดิ์” เผย “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” สวนกระแสเศรษฐกิจซบ หัตถศิลป์ไทยยอดพุ่งทะลุเป้ากว่า 54 ล้านบาท ดันสู่ตลาดลักซ์ชัวรี่ ปั้นแบรนด์ไทยไประดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมช.พาณิชย์ฯ เผย ยิ้มรับยอด SACICT จัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” สวนกระแสเศรษฐกิจโลก ผลจากการจัดงานตลอด 4 วัน สร้างความนิยมมียอดผู้เข้าชมงานเกินคาด คว้ายอดจำหน่ายรวม กว่า 54 ล้านบาท ยอดซื้อ ต่อหัวโตกว่า 42.5%

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 11 ในแนวคิด “เสน่ห์แห่งภูมิปัญญา” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ที่ผ่านมานั้น เรียกได้ว่า เป็นงานที่ประสบความสำเร็จเกินจากที่คาดไว้ ทั้งในเรื่องของยอดผู้เข้าชมงาน ซึ่งตลอด 4 วันมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 21,422 ราย และยอดจำหน่ายรวมในงาน เกินจากเป้าที่วางไว้ 50 ล้านบาท โดยมียอดจำหน่ายรวมจำนวน 54,390,624 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงและสามารถทำรายได้ภายในงานสูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมประเภทเครื่องประดับทองโบราณ และผ้าทอจากครูช่างศิลปหัตถกรรม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่นที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงเล็งเห็นได้ว่า แม้สภาวะทางเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะที่ประชาชนต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมในงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเป็นงานที่มีอัตลักษณ์ และมีความเฉพาะตัวยังคงได้รับความนิยม และเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้ง การที่ SACICT ได้มีการส่งเสริม ให้ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมไทย สามารถพัฒนาชิ้นงานหัตถศิลป์ให้มีความสอดคล้องกับกลุ่มผู้ซื้อมากขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยให้คงไว้ซึ่งความประณีต และเสน่ห์แห่งภูมิปัญญา ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในทุกชิ้นงาน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ความนิยมในงานศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

นายวีรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความสำเร็จในเชิงมูลค่าแล้ว ผลลัพธ์จากการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา ยังสามารถสร้างความสำเร็จในด้านการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นเสน่ห์ทางภูมิปัญญา และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทย ให้ไม่หายสาบสูญไปอีกด้วย นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการมองหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มสินค้าลักซ์ชัวรี่

โดยมองว่าหัตถศิลป์ไทยมีโอกาสทางธุรกิจ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นเหมาะกับตลาดกลุ่มนี้ และยังสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกทั้งในเรื่อง Green Product และ การเป็น Sustainable Brand จึงได้มอบนโยบายให้ SACICT ผนึกพลังกับผู้ประกอบการ ทั้งครูฯและทายาทฯ ในการช่องทางในการสร้างตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น












กำลังโหลดความคิดเห็น