ศ.ศ.ป. มอบโล่เชิดชูเกียรติ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน-ครูช่างศิลปหัตถกรรม-ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”พร้อมโชว์ผลงานสุดล้ำค่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT นำสุดยอดผลงานศิลปหัตถกรรมแห่งปี โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563 คัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์ และสร้างสรรผลงานแห่งปี เพื่อเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” พร้อมนำผลงานจัดแสดงภายใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11” ระหว่าง 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ฮออล์ EH 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา
นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ศ.ศ.ป. หรือ SACICT ได้สานต่อโครงการเพื่อคัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์และสร้างสรรผลงานแห่งปี เพื่อเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ทั้งนี้ SACICT มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดสรรบุคคลเพื่อที่จะเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2563 ซึ่งได้พิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง มาร่วมพิจารณาคัดสรรบุคคลผู้ถือเป็นที่สุดแห่งทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ จริงๆ แล้ว อีกทั้งยังพิจารณาถึงการเป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทที่มีแนวโน้มขาดแคลนหรือมีแนวโน้มสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายด้วยทักษะฝีมือ และองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ตลอดจนผู้ที่ได้รับการเชิดชูทุกท่านเหล่านี้ จะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุนในกิจกรรมที่จัดโดย SACICT ตามช่องทางและโอกาสที่เหมาะสม
สำหรับในปีนี้มีบุคคลที่ SACICT เชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” โดยมีบุคคลที่ส่งผลงานมากกว่า 300 คน และได้รับการพิจารณาคัดสรรเชิดชู ภายใต้ “โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563” เชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” จำนวน 6 ท่าน, “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” จำนวน 14 ท่าน และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” จำนวน 9 ท่าน
ทั้งนี้ นายแสวง ศิริ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประเภทเครื่องจักสาน กุบละแอ จ.ลำปาง กล่าวว่า เริ่มทำงานจักรสานมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงปัจจุบันก็ไม่คิดว่างานของตนจะได้รับความสนใจ เครื่องจักสานกุบละแอ หรือหมวกสึก นักรบล้านนา ถือเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นงานยากและไม่ค่อยมีคนนิยมทำหรือสืบทอดมากนัก เมื่อ ศ.ศ.ป.มองเห็นคุณค่าก็รู้สึกดีใจ
“การได้รับเลือกให้เป็น “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจมากครับ ทุกวันนี้งานสานกุบละแอ เป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ยังมีกลุ่มคนชอบสะสมหมวก อีกทั้งยังนำไปใช้เพื่อการแสดงทำให้ตลาดยังมีความต้องการสูง “กุบละแอ” ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการทำ โดยไผ่ที่ใช้จะต้องเป็นไผ่แก่ นำมาเหลาเพื่อใช้สานหมวก ซึ่งปัจจุบันป่าก็น้อยลง ไผ่ก็หายากมากขึ้น ทำให้การค้นหาไผ่ดีๆ กลายเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ว่าจะยากอย่างไรก็ต้องค้นหาให้ได้ เพราะมีคนสั่งทำต่อคิวยาวตลอดทั้งปี”
ขณะที่ นางบัวจัน นิปุณะ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องโลหะ ปิ่นปักผมโบราณ จ.เชียงใหม่ บอกว่า ได้เรียนรู้การทำปิ่นปักผมจากผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ซึ่งปิ่นปักผมนี้ทำมาจากงานทองเหลือง ดุนลวดลายอย่างมีเอกลักษณ์แบบล้านนา
“รู้สึกดีใจที่งานศิลปหัตถกรรมโบราณซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยยังได้รับความสนใจ ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อ ปัจจุบันแม้จะมีคนใช้ปิ่นปักผมน้อยลง หากแต่งานปิ่นปักผมแม่แจ่มก็ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาด เพราะมีความงดงามและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร”
สำหรับผลงานแห่งปีของบุคคลที่ได้รับการเชิดชูทั้ง 3 สาขา นอกจากจะได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติแล้ว ศ.ศ.ป.ยังนำผลงานมาจัดแสดงภายในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 11 กำหนดจัดขึ้นในระหว่าง 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ฮออล์ EH 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เป็นงานที่แสดงตัวตน และผลงานของบุคคล ชั้น “ครู” เป็นพื้นที่สำหรับครู และทายาทครู ที่ SACICT ได้เชิดชูทุกคนจากทั่วประเทศ ให้ได้มาแสดงศักยภาพในผลงาน และฝีมือเป็นการเฉพาะ และถือเป็นงานที่จำหน่ายผลงานหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุด หรือสนใจติดตามได้ที่ www.sacict.or.th และ https://www.facebook.com/sacict/”