xs
xsm
sm
md
lg

New normal ของการดื่มแอลกอฮอล์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.ดร.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)

ชีวิตของประชากรโลกตอนนี้กำลังเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่ New normal อันมีสาเหตุมาจากการระบาดของโรค COVID-19 จากเดิมกิจกรรมมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่ต้องทำนอกบ้าน ทั้งกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมสันทนาการบันเทิง


แต่ตอนนี้เชื่อว่าส่วนมากของประชากรในโลก ต้องกลับมาใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น กิจกรรมหลายอย่างที่เดิมเคยเป็นกิจกรรมที่ต้องทำนอกบ้าน แต่อันไหนที่ต้องปรับมาทำที่บ้าน ก็ต้องถูกเปลี่ยนรูปแบบให้ทำที่บ้านได้ การทำงานเลี้ยงชีพของหลายอาชีพ เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว การเดินทางของคนเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว การบริโภคจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว และยังรวมไปถึงกิจกรรมที่เราจะพูดเป็นประเด็นสำคัญในบทความนี้ด้วย นั้นคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เดิมทีนั้นคนไทยมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านมากกว่านอกบ้านอยู่แล้ว โดยจากการสำรวจข้อมูลในรายงานสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย พ.ศ.2560 พบว่า ร้อยละ 62% ของนักดื่มไทยดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้าน (บ้านตัวเอง 40%, บ้านคนอื่น 22%) และร้อยละ 38% ของนักดื่มคือคนที่ต้องออกไปดื่มตามร้านอาหาร สถานบันเทิง และงานเลี้ยง เมื่อปัจจุบันสถานการณ์โรค COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก การดื่มนอกบ้านของนักดื่มไทยจึงหายไปเกือบทั้งหมด ร้านอาหาร สถานบันเทิง งานรื่นเริงทั้งหลายถูกยกเลิก


ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่มากของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เพราะหากพฤติกรรมของผู้ดื่มยังเหมือนเดิม จะทำให้ยอดขายจากนักดื่มที่นิยมดื่มนอกบ้านมากกว่าในบ้านหายไป เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าในตลาดรวมทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นตัวเลข 38% ของ 300,000 ล้านบาท ไม่ใช่ตัวเลขที่เล็กน้อยเลย เมื่อผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะ COVID-19 อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดในการทำธุรกิจ

เราได้เห็นความพยายามในการดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอดของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในช่วงCOVID-19 ดังที่ปรากฎข่าวเมื่อวาน ว่ามีการรวมกลุ่มเฉพาะกิจของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในนาม “สมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้าน” หรือ สสบ. โดยชูนโยบายว่า ดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่เป็นภาระให้คุณหมอ ไม่รวมกลุ่ม ไม่สร้างความรุนแรงในครอบครัว และ ไม่ก่อความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน

อ่านนโยบายแล้วดูเหมือนจะตั้งใจดีต่อสังคม แต่เอาความเป็นจริงทางสถิติมากางกันดีกว่า ว่าคำเสนอของ สสบ.นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดขึ้นตามนั้น



ข้อเท็จจริงทางสถิติประการที่หนึ่ง “คนเปลี่ยนมากินเหล้าในบ้านเพิ่มขึ้น” หลังจากสถานการณ์โรค COVID-19 ระบาด และนำไปสู่มาตรการ lock-down ของหลายประเทศทั่วโลก พฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ของคนก็เปลี่ยนไป ที่สหรัฐอเมริกา มีการเก็บข้อมูลการขายแอลกอฮอล์ พบว่า ตั้งแต่เริ่มมีการ lock down ในเดือนเมษายนเป็นต้นมา ยอดขายแอลกอฮอล์ผ่านช่องทาง off-premiseหรือ การซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน เพิ่มขึ้น 30 กว่าเปอร์เซ็น แล้วแต่ชนิดของเครื่องดื่ม


ที่น่าสนใจคือ มีพฤติกรรมใหม่ที่เกิดเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลในระยะเวลาสั้น ๆ คือการสั่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางการซื้อออนไลน์ มากขึ้นถึง 250-290% นี่คือข้อเท็จจริงทางสถิติที่คิดว่าคงเกิดขึ้นคล้ายกันทั่วโลก เสียดายที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเก็บข้อมูลลักษณะนี้ในไทย แต่สันนิษฐานของผมคือ คนไทยก็คงไม่แตกต่าง เราต้องปรับมาดื่ม-กินในบ้านแทนแน่นอน

ข้อเท็จจริงข้อที่สอง การอยู่ร่วมกันในบ้าน ไม่ได้มีแต่เรื่องที่ดีเท่านั้นที่เกิดขึ้น ในหลายครอบครัว การถูก lockdownให้ใช้ในบ้านยาวนานขึ้นต่อวันนั้น อาจเป็นเรื่องที่ไม่ดี ในทางสถิติเราพบว่าช่วงที่ lockdown นั้น มีรายงานการใช้ความรุนแรงในบ้าน (Domestic violence) เพิ่มขึ้นในหลายประเทศในโลก ประมาณการจากองค์การสหประชาชาติว่า ในช่วงสามเดือนของการ lockdownจะมีเหตุความรุนแรงภายในบ้านเพิ่มขึ้น 20%


ผมไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่าการเชิญชวนให้คนดื่มแอลกอฮอล์ภายในบ้านจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมดังนโยบายของ สสบ. กล่าวถึง การเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ดื่มในบ้านอาจจะช่วยประเทศชาติในเรื่องการลดอุบัติการณ์การเมาแล้วขับ แต่อย่าลืมว่าแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน ดังนั้น การเชิญชวนคนมาดื่นแอลกอฮอลในบ้านนั้นคงไม่ใช่การลดความเสี่ยงของการใช้ความรุนแรงในบ้านแน่นอน

ข้อเท็จจริงประการที่สาม การบริโภคแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงหลายอย่างต่อโรคค COVID-19 ทั้ง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรบกวนระบบภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอลง เพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงของการติดเชื้อ และนำมาซึ่งการเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากโรค ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ยิ่งทำให้คำเชิญชวนให้ดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้าน เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณหมอ กลายเป็นคำเชิญชวนที่อาจไม่ตรงตามหลักการแพทย์

กระบวนการที่กลุ่มธุรกิจพยายามเชิญชวนให้นักดื่ม เปลี่ยนพฤติกรรมมาดื่มที่บ้านนั้น เราเรียกว่า Normalization หรือความพยายามที่จะทำให้การดื่มที่บ้านเป็นเรื่องปกติในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคCOVID-19 เมื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างได้แล้ว ยอดขายของอุตสาหกรรมก็จะไม่ลดลงมากนัก แม้จะไม่มีการดื่มนอกบ้านเป็นเวลานานเป็นปี ๆ ก็ตาม

ใครที่เป็นนักดื่มอยู่ อาจจะลองใช้สถานการณ์ช่วงระบาดของโรค COVID-19 นี้ ตั้งใจลดละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเถอะ New normal ที่ควรเป็นสำหรับแอลกอฮอล์คือ การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ตัวเราปลอดภัยจากโรค สมาชิกในบ้านปลอดภัย สังคมปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น