ศบค.ย้ำ ผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจการ ไม่ใช่ผ่อนคลายการ์ดตก ยังต้องเว้นระยะห่าง เน้นอยู่บ้าน สวมหน้ากาก เตรียมจัดชุดตรวจกิจการทำตามมาตรฐานหรือไม่ หากไม่ทำตามจะตักเตือนก่อน ไม่ทำอีกจะสั่งปิด ยันข้ามจังหวัด จะกักตัวปลายทาง อยู่สั้นเป็นโฮมควอรันทีนตามวันที่อยู่ แจงปล่อยคนออกจากภูเก็ตมีหนังสือรับรองทุกคน
วันนี้ (3 พ.ค.) พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า การที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการ คือ ผ่อนคลายมาตรการที่เคยปิดกิจการให้เปิดได้ แต่ไม่ใช่ผ่อนคลายตัวเอง เราไม่เคยมีคำแนะนำว่าการ์ดตกได้ หรือผ่อนคลายความเข้มงวดที่มีต่อตัวเองได้ บางท่านคอยมา 38 วัน พอรัฐประกาศมาตรการผ่อนคลายอาจเข้าใจว่าคือพักผ่อน การ์ดตกได้บ้าง ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ยังการ์ดตกไม่ได้ การเดินทางไม่ใช่คำแนะนำ ยังคงงดหรือลดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นมีเหตุจำเป็นและต้องแสดงหลักฐาน เมื่อเดินทางต้องเจอการตรวจเข้มข้นทั้งไปและกลับก็อาจไม่สะดวกบ้าง สำหรับสถานประกอบการต่างๆ ที่ให้กลับมาเปิดต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ 5 เรื่องหลัก คือ 1. จัดมีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสตลอดเวลา 2. จัดให้ทุกคนในสถานบริการมีหน้ากาก 3. มีเจล สบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ 4. จัดมาตรการเว้นระยะห่าง และ 5. ทำทุกวิธีไม่ให้เกิดความแออัดในสถานที่นั้น
พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า จากนี้จะมีการจัดชุดตรวจทั้งจากฝ่ายความมั่นคง ทีมจากท้องถิ่น ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องระดมกำลังจัดทีมออกไปตรวจว่า สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดหรือไม่ เช่น ทำตาม 5 มาตรการ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่ 7 พันตารางเมตร จะมีคนอยู่ในสถานประกอบการเวลาเดียวกันได้ 10 ตารางเมตรต่อคน แปลว่า ต้องมีคน 700 คนในพื้นที่ เป็นเจ้าหน้าที่ 300 คน ดังนั้น จะรับลูกค้าได้ 400 คน ก็จะลงไปเข้มงวดตรวจในลักษณะนี้ โดยเบื้องต้นจะให้คำแนะนำก่อน ถ้าสถานประกอบการไม่ทำตามจะมีการเตือน และถ้าไม่ทำอีกจะสั่งปิด ทั้งนี้ แม้จะจัดทีมตรวจแต่ก็อาจตรวจไม่ทั่วถึง ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการให้จัดบริการที่ปลอดภัย หากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่น ปล่อยให้รอคิวกันแออัดในการจ่ายเงิน ก็สามารถร้องเรียนได้ เช่น กทม.มีสายด่วน 1555 ทำเนียบรัฐบาลมี 1111 ท้องถิ่นมีหลายเลขต่างกันไป
“ย้ำว่า การผ่อนคลายวันที่ 3-31 พ.ค. แม้ช่วงนี้จะมีวันหยุด ก็ขอให้ไปเน้นกิจกรรมที่รัฐผ่อนคลาย แล้วทุกคนอยู่กับบ้าน ถ้าผู้ประกอบการทุกกิจการเข้าใจตรงกัน ยังสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่บ้าน หรือทำงานแบบเหลื่อมเวลา ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อลดความแออัดคับคั่งที่ทำงาน ก็จะประคองตัวเลขไปได้อีก 14 วัน นอกจากนี้ การปฏิบัติของชุดตรวจจุดตรวจ คือ จุดตรวจโควิด เคอร์ฟิว และสถานประกอบการจะดำเนินการจริงจังเข้มข้น 28 วันจากนี้ แต่จะลดด่านตรวจโควิดลงเหลือ 312 จุด ด่านตรวจเคอร์ฟิวปรับลง 690 จุด เพื่อใช้กำลังออกสุ่มตรวจกิจการมากขึ้น” พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายฉัตรชัย พรมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเดินทางข้ามเขตจังหวัดจะถูกกักตัว14 วัน ที่ปลายทาง ไม่ได้กักตัวระหว่างข้ามจังหวัด เช่น ออกจาก กทม.ไปสุรินทร์ โดยผ่านนครราชสีมา ก็จะไม่ถูกกักที่นครราชสีมา เว้นแต่มีการพักผ่อนที่จังหวัดนั้น ที่ต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบคัดกรองเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากการไปปลายทางมีความจำเป็นต้องอยุ่เพียง 2-3 วัน เช่น ไปงานศพ ไปขึ้นศาล ฯลฯ จะให้เป็นลักษณะของโฮมควอรันทีนตามเวลาอยู่จริง โดยจะบันทึกข้อมูลเพื่อสืบค้นย้อนหลังได้ หากเกี่ยวข้องการระบาดของโรค ซึ่งทุกจังหวัดจะปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกัน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนการปล่อยคนออกจากภูเก็ตนั้น เป็นคนที่ไม่มีภูมิลำเนาใน จ.ภูเก็ต แต่มาทำงานที่นี่ 1 แสนกว่าคน เมื่อเกิดสถานการณ์ห้ามเข้าออกตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ทำให้มี 5 หมื่นกว่าคน แจ้งว่า ไม่มีงานทำ ขอออกภูเก็ต จนสิ้นวันที่ 30 เม.ย. ได้ทำทะเบียนผู้ประสงค์จะออก ซึ่งมี 17 ตำบล โดยผ่านกระบวนการคัดกรอง 14 ตำบล อีก 3 ตำบลยังไม่ให้ออก เมื่อออกจากจังหวัดมีหนังสือออกโดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่า ผ่านกระบวนการคัดกรองอยู่เกิน 14 วัน และแจ้งจังหวัดปลายทางที่ไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ออก 3,600 คน ไป 56 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ 11 จังหวัดภาคใต้ ถึง 2,500 กว่าคน หรือ 70% นอกนั้นกระจาย 1-2 คนทั่วประเทศ ทุกคนผ่านกระบวนการตรวจคัดกรอง ปลายทางจะทราบข้อมูลว่ามีคนมาจากภูเก็ตจำนวนเท่าไร จังหวัดระหว่างทางจะทราบว่าคนมาจากภูเก็ตผ่านกระบวนการแล้ว
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินทางข้ามจังหวัดจะเพิ่มโอกาสการแพร่เชื้อ ดังนั้น หากเดินทางต้องแสดงเหตุจำเป็น ทั้งนี้ การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะทั้งเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร เรือ ต้องทำตามมาตรฐาน คือ 1. ต้องคัดกรองไข้อุณหภูมิ หากเกินไม่ให้เดินทางขึ้นยานพาหนะ ตั้งแต่เข้าไปในสนามบิน สถานี ก่อนขึ้นยานพาหระจะคัดกรองอีกครั้ง 2. การเว้นระยะ ผู้ประกอบการทั้งหมดได้กำหนดจุดยืนจุดนั่งต้องเว้นระยะ ทราบว่า มีประชาชนใช้บริการจำนวนมากช่วงเร่งด่วน วันหยุดยาว ขอให้ปฏิบัติตามกำหนด เก้าอี้ตัวไหนนั่งไม่ได้ก็นั่งไม่ได้ ขายตั๋วตามจำนวนนั่งได้จริงๆ 3. การสวมหน้ากากเป็นข้อบังคับเวลาเดินทางต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง 4. การให้บริการต้องมีเจลล้างมือสบู่ล้างมือ และ 5. ทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่ให้บิรการ สถานี สนามบิน ยานพาหนะ มีการทำความสะอาดทุกรอบทุกวัน และเช็กสุขภาพอนามัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเข้าไปในพื้นที่ต้องตรวจสอบว่าแต่ละจังหวัดมีมาตรารควบคุมหนักเบา เป็นไปตามสถานการณ์จังหวัด ไม่อยากให้ไปถึงแล้วขาดนั่นขาดนี่ บางจังหวัดต้องมีหนังสือรับรอง ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น อยากให้ทราบว่ารายละเอียดเหล่านี้สำคัญก่อนเดินทาง และขอให้ประชานปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดดังกล่าว