xs
xsm
sm
md
lg

ลูกปิดเทอมยาว ต้องเปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘วาระ’/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องใหญ่ของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่นอกเหนือจากเรื่องปากท้องแล้ว ก็คือเรื่องการศึกษาของลูกนี่แหละ

ตลอดช่วงเวลาปิดเทอมที่เลื่อนยาวไปถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองคงกำลังหนักใจอยู่ไม่น้อย แม้จะเต็มใจและอยากอยู่ใกล้ชิดลูก แต่ดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆที่รุมเร้า ประมาณต้องดูแลทั้งบ้าน หน้าที่การงาน ครอบครัว สามีและภรรยา อาหารการกินฯลฯ

แล้วไหนจะกังวลว่าเราจะติดโควิดไหม คนในครอบครัวจะติดไหมจะตกงานไหม บางคนก็ตกงานทันที รายได้จะลดลงไหม กิจการเรามีปัญหา ขายของไม่ได้ ทำงานอาชีพอิสระ เรียกว่าต้องรัดเข็มขัดเรื่องรายได้ แล้วต้องดูแลลูกที่ต้องเติบโตขึ้นทุกวัน

จึงไม่แปลกใจที่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากจะอึดอัดคับข้องใจ และสิ่งที่ตามมาก็คือภาวะความเครียด

ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้พยายามหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ เพราะยังไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน แต่พอเวลาผ่านไปเป็นเดือนแล้ว แม้สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ล่าสุดรัฐบาลยังต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน และยังเหลือเวลาในช่วงปิดเทอมของลูกอีก 2 เดือน

นั่นหมายความว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่าเรื่องการศึกษาของลูกจะเป็นอย่างไร ลูกจะได้เปิดเทอมตามที่เลื่อนไปจริงหรือไม่ และถ้าต้องเลื่อนเปิดเทอมจะทำอย่างไร หรือถ้าเปิดเทอมได้แล้วส่งลูกไปโรงเรียน ลูกจะปลอดภัยหรือไม่

ความกังวลต่างๆ ก็ประเดประดังเข้ามา เพราะความปลอดภัยก็ห่วง เรื่องวิชาการก็กังวล
มีเทคนิคการจัดการที่นำมาฝากพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังประสบในสถานการณ์วิกฤติ COVID– 19เมื่อเผชิญปัญหาแต่เราสามารถรับมือและจัดการได้ 5 ประเด็นที่ควรคำนึงถึง

หนึ่ง – ปรับเปลี่ยน Mindset
ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือ Mindset ให้ได้ว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เราจะใช้วิธีคิดปกติไม่ได้ ในเมื่อมันเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้นแล้ว เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ต้องยอมรับและเข้าใจ เพราะบางคนตกงาน บางคนรายได้ลด ฯลฯ เมื่อตกงานก็ต้องตก ตกงานแต่ชีวิตครอบครัวยังอยู่ ลูกก็ต้องดำรงชีวิตต่อไป ชีวิตต้องดำเนินต่อไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมาก่อน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาของเรา มันเป็นปัญหาร่วมของคนทั่วโลก ทุกคนเดือดร้อนกันถ้วนทั่ว และเราก็พร้อมที่จะเผชิญ

สอง – จัดการอารมณ์
เมื่อเราปรับเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว มันจะนำไปสู่การทำให้เราจัดการอารมณ์ตัวเองได้ แม้เราจะเครียดแสนเครียด แต่ควรมองหาข้อดีของมัน ยกตัวอย่าง เราเคยเรียกร้องว่าอยากจะอยู่กับลูกกับครอบครัวแต่เราไม่มีเวลา ต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูก สามีหรือภรรยาแต่ตอนนี้เรามีเวลาแบบจัดเต็มแล้วมิใช่หรือ ทำไมไม่ใช้เวลาเหล่านี้ให้มีคุณค่าของการอยู่ร่วมกันสิ่งที่ตามมาเราจะมองสถานการณ์และจะเปลี่ยนคำว่า “ภาระ”ให้เป็น “วาระ” เราจะไม่มองว่าลูกเป็นภาระ แต่จะมองว่าเป็นวาระ มันเป็น “วาระพิเศษ” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ พอเลื่อนเปิดเทอมไป 1 กรกฎาคม บรรดาพ่อแม่ที่มีลูกเล็กเครียดกันเป็นแถวเพราะหมดมุขที่จะอยู่กับลูกแล้ว ที่เคยคิดจะทำกับลูก ใช้ไปหมดแล้ว จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เพราะฉะนั้นถ้าคิดเผื่อไปเลยว่าจะอยู่กับมันไปอีกครึ่งปี จะรับมืออย่างไร อย่าไปคิดหรือสนใจว่าเมื่อไหร่มันจะจบ แต่เปลี่ยนเป็นว่าเราพยายามที่จะลุกขึ้นมามองหาโอกาสในวิกฤตินั้นอย่างไร จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไร

สาม – เป็นแบบอย่าง
พ่อแม่ที่มีลูกช่วงวัยเด็กเล็ก ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยเด็กเล็กเขาจะเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เขาเห็นมากกว่าสิ่งที่เขาฟัง พ่อแม่บอกว่าอย่าทำแบบนั้น ให้อยู่ห่าง ๆ กันนะ ให้ไปล้างมือ พูดถึงเรื่องสุขอนามัยเบื้องต้น เขาก็อาจจะไม่ให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำตัวเองให้เป็นแบบอย่าง ทำให้เห็นว่า แม่ ต้องทำงานที่บ้าน แม่ต้องทำอะไรบ้าง ทำให้เขาเห็นว่าทุกคนต้องเจอหมด ลูกปิดเทอม ลูกอาจจะไม่ได้ไปโรงเรียน โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม เราควรจะทำอะไรกันบ้าง เด็กไม่ได้มีเฉพาะช่วงเวลาน่ารัก มันก็มียามที่ลูกงอแง ดื้อ เอาแต่ใจตัวเอง มันเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียก่อนที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

สี่ – จัดตารางชีวิต
ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่มากตอนนี้ ต้องถือโอกาสเป็นการเรียนรู้ของลูก โดยถือโอกาสทำเป็นตารางชีวิต หรือตารางกิจวัตรของลูก เนื่องจากว่าเวลาลูกไปโรงเรียน เขามีตารางสอนหรือตารางเรียน เราก็เปลี่ยนเป็นตารางชีวิตของเขา โดยเอาลูกเป็นตัวตั้ง คนเป็นพ่อแม่จะรู้ว่าลูกชอบอะไร แล้วชวนลูกมาพูดคุยให้มีส่วนร่วมในการจัดตารางชีวิต กิจวัตรว่าเขาจะทำอะไรบ้าง คือสอดแทรกเรื่องวินัยด้วย แล้วต้องการให้เขารู้ว่าแม้ช่วงนี้จะอยู่บ้าน เขายังต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองว่า ตื่นขึ้นมา หลังจากเก็บที่นอนแล้ว รับประทานอาหารเสร็จ ช่วง 8 – 9 โมง ลูกจะทำอะไรบ้าง ฟังนิทาน เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นดนตรี วาดรูประบายสี ก็สุดแท้แต่ ถ้าเด็กโตก็อาจจะเพิ่มสเต็ปเข้าไป มีหนังสือวิชาเรียนแทรกไปบ้าง มีอ่านการ์ตูนบ้าง

ที่สำคัญพ่อแม่ต้องจริงจังแต่อย่าเคร่งครัดเกินไป
สำหรับลูกเล็กควรมีการยืดหยุ่นด้วย เช่น ลูกจะเล่นเกมส์ออนไลน์ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องกำหนดเวลา เด็กเล็กก็ให้เวลาสัก 15 นาที 20 นาที เด็กโตหน่อยก็ครึ่งชั่วโมง ในวันหนึ่ง เราก็ซอยย่อยเวลา
การวางตารางชีวิตจะฝึกลูกให้รู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ซึ่งต่อให้เปิดเทอมเดือนกรกฎาคม เขาก็ยังมีตารางชีวิต ซ้อมไว้ก่อน ใครจะไปรู้ว่าพอหลังเดือนกรกฎาคม ต้องเรียนออนไลน์กันด้วย เพราะฉะนั้นมันมีความจำเป็น แต่ต้องแบบหลวม ๆ ยืดหยุ่นได้ และควรมีวิชาตามใจฉันด้วย เช่น เขาอยากจะเอกเขนก ตีลังกา ไม่ต้องทำอะไรตามตารางชีวิตก็ได้

ห้า – แปรเป็นสร้างการเรียนรู้
พ่อแม่ควรเอาวิกฤตินี้มาสร้างการเรียนรู้ให้ลูกได้เห็นภาพ อาจดูจากข่าว ติดตามสิ่งต่าง ๆ แล้วลองถามลูกว่ารู้สึกอย่างไร ลูกคิดอย่างไร ลูกเห็นอย่างไร สร้างคำถามปลายเปิดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิดจากวิกฤติที่เกิดขึ้น เป็นการเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้กับลูกด้วย อาจหยิบยกเอาสถานการณ์มาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว พยายามรับฟังมากกว่าจ้องจะสอน เขาอาจจะมีคำถาม พ่อแม่ก็ตอบและอาจบอกความรู้สึกของเราบ้าง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน แล้วทำให้เรียนรู้จากลูกด้วยว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมลูกเสียใจ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แล้วมันสามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้ว่าทำไมถึงไปเกิดกับผู้สูงวัยจำนวนมาก เราก็จะบอกได้ว่าปู่ ย่า ตา ยาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นวิธีการปฏิบัติของลูกควรจะทำอย่างไร ที่ลูกต้องล้างมือ ต้องปฏิบัติแบบนี้เพราะว่าจะได้ไม่ทำให้คุณปู่ ย่า ตา ยาย ติดเชื้อ ฉะนั้น พวกเราก็ต้องช่วยกันอย่างไร มันก็คือการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว

สุดท้ายปลายทางที่ทำร่วมกันมาทั้งหมด มีเป้าหมายต้องพยายามแปรให้เป็นองค์ความรู้ คืออย่าคิดว่าให้เขาเรียนรู้เฉพาะตอนนี้ แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้ลูกได้เรียนรู้ระดับการปลูกฝัง ให้เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้ามันติดตัวลูกไปแล้ว มันดีกับเขาอย่างไร

เป็นการสร้าง New Normal ให้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วย สรุปง่าย ๆ ว่านี่ไม่ใช่ “ภาระ” หากแต่เป็น “วาระ(พิเศษ)” ที่ฟ้าประทานมาให้โดยแท้ !


กำลังโหลดความคิดเห็น