ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) เป็นประเด็นที่เข้าสู่การรับรู้ทางสังคมมาเป็นระยะเวลาพอสมควรจนหลายคนเกือบจะลืมกันไปแล้ว แต่นับจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในวงกว้าง ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง PM 2.5 และโรคระบาด การพยายามหาทางออกอย่างยั่งยืนทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง
การเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการสร้างความตระหนักให้กับสมาชิกในสังคมได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นและคาดหวังให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข รวมทั้งช่วยกันสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับสมาชิกทุกคน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เชิญชวนให้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดฝุ่นละอองในอากาศ หรือพร้อมใจกันอยู่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายโรคซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตทางสังคมกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
การแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับการคาดหวังในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม ทั้งโดยการลงมือทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือสร้างผลกระทบในทางลบต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องปลูกฝังความคิด ถ่ายทอดและส่งเสริมการเรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมให้กับสมาชิก โดยเฉพาะกับเด็กๆที่จะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ให้ดำเนินต่อไปได้
อาจกล่าวได้ว่าการสร้างเสริมนิสัยความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมความคิดและจิตสาธารณะให้กับสมาชิกตั้งแต่วัยเด็ก สั่งสมเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจนเป็นนิสัยพื้นฐาน ซึ่งต่อไปนี้เป็น 8 วิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้
1.สร้างความรู้สึกผูกพัน – การเชื่อมโยงเด็กเข้ากับผู้คนและสิ่งรอบตัวผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่างๆตามสมควร เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความความคุ้นเคยและเรียนรู้วิธีการตอบสนองต่อผู้คนที่มีความแตกต่าง สร้างความรู้สึกถึงความผูกพันในการเป็นส่วนหนึ่งในระบบสังคมและสภาพแวดล้อม
2.ปลูกฝังความเข้าใจ – สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของการมีอยู่ของผู้คนและสิ่งต่างๆ สภาพปัญหาและผลกระทบที่ตามมา โดยเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครในนิทานหรือบุคคลตัวอย่างที่เป็นจริง ช่วยปลูกฝังความรู้สึกเห็นใจและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆในการทำสิ่งดีๆให้ผู้อื่น
3.มอบโอกาสในการแบ่งปัน – คุณพ่อคุณแม่พึงสนับสนุนให้เด็กได้ทำการแบ่งปันในโอกาสต่างๆอย่างสม่ำเสมอ แม้เพียงการออกแรง บริจาคเงินหรือสิ่งของเพียงเล็กน้อยตามกำลังที่มี เป็นการปลูกฝังการคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น ฝึกฝนการเสียสละจนเกิดเป็นความเชื่อมั่นและรู้สึกยินดีในการทำเพื่อผู้อื่น
4.สร้างทักษะทำงานเป็นทีม – การส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมสันทนาการ ศิลปะหรือดนตรีที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่การเล่นกีฬาประเภททีม สามารถพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นการฝึกฝนความรับผิดชอบและเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
5.ผลักดันเป้าหมายในชีวิต – สิ่งสำคัญในการเป็นสมาชิกที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมคือ การพัฒนาตัวเองให้สามารถทำประโยชน์ต่อส่วนรวมและไม่เป็นภาระให้กับสังคม คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่เตรียมความพร้อม สร้างความมั่นใจและผลักดันให้ลูกๆสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายของตัวเองได้อย่างมั่นคง
6.ฝึกฝนวินัยจากในบ้าน – บ้านและครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมในทุกด้านก่อนที่จะออกไปสู่สังคมภายนอก การช่วยให้เด็กสามารถจัดตารางการใช้ชีวิตทั้งการเรียน การเล่น ทำงานบ้านและพักผ่อนได้อย่างสมดุล จึงเท่ากับเป็นการสร้างรากฐานนิสัยความรับผิดชอบให้กับทุกเรื่องในชีวิต
7.ตามใจอย่างมีเหตุผล – การจะบอกให้คุณพ่อคุณแม่เลิกตามใจลูกนั้นคงเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำให้เข้าที่เข้าทางได้โดยที่ทุกการเรียกร้องจำเป็นต้องผ่านการยอมรับร่วมกันโดยพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นก่อนเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเป็นคนมีเหตุผลและรับผิดชอบต่อความต้องการของตัวเอง
8.ดูแลการใช้โซเชียลมีเดีย – สื่อสังคมออนไลน์ถือเป็นรูรั่วขนาดใหญ่ในการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลข่าวสารโดยขาดความยั้งคิดและส่งผลด้านลบต่อสังคมมากมาย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยสอดส่องดูแลให้คำแนะนำการใช้งานอย่างเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนการส่งต่อสิ่งดีๆโดยใช้โลกออนไลน์เป็นสื่อกลาง
การสร้างการรับรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะเกิดผลดีกับทุกคนได้นั้น เป็นสิ่งที่สังคมกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยการปลูกฝังความคิดและพฤติกรรมนี้ไปยังเด็กๆ ที่จะต้องเติบโตไปเป็นกำลังในการสร้างสิ่งดีๆในสังคมให้ดำเนินต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด