xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงลูกให้เป็น “ที่รัก” ของคนอื่น / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ก่อนหน้านี้บางคนอาจเคยนึกสงสัยกับวลีอมตะของอริสโตเติ้ลที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” หรือคนเราจะมีความสุขและเจริญงอกงามได้เมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม จนกระทั่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตที่ทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อส่วนรวม สิ่งนี้ก็น่าจะทำให้เราตระหนักได้ว่าสังคมแห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด


การวางรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีงามในหมู่สมาชิกนับเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสังคมที่จะทำให้สมาชิกใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและสามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเองไปพร้อมกับส่งเสริมความเจริญงอกงามในสังคมให้เติบโตก้าวหน้าและดำเนินต่อไปได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆและเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างราบรื่น


ครอบครัวในฐานะหน่วยทางสังคมที่มีขนาดเล็กที่สุดจึงมีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมให้แก่สมาชิกใหม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนอกรั้วบ้านที่มีขนาดใหญ่โตและมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ผ่านการปลูกฝังความคิด จิตใจและค่านิยมที่สอดคล้องกับทิศทางสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณพ่อคุณแม่มักถูกคาดหวังว่าจะสามารถเลี้ยงลูกให้เป็นที่รักและได้รับการยอมรับจากสมาชิกคนอื่นๆ


การเป็น “ที่รัก” ของคนอื่นเป็นมากกว่าเรื่องทางกายภาพหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็น สัมผัสและจับต้องได้ง่าย แต่รวมถึงบทบาทและการวางตัวในสังคม ตลอดจนการแสดงออกและการปฏิบัติต่อผู้อื่นที่สะท้อนถึงคุณค่าทางความคิดและจิตใจซึ่งจะเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ ในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม เด็กๆจึงจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังคุณค่าพื้นฐาน 5 ประการดังต่อไปนี้


1.ความปรารถนาดีต่อกัน – ความปรารถนาดีทำให้ความสัมพันธ์เข้มแข็งขึ้นโดยอาศัยการเชื่อมโยงทั้งความคิดและจิตใจ กล่าวคือ การมีใจผูกพันและคิดหวังต่อกันในทางที่ดีนั้นย่อมต้องการให้เกิดสิ่งดีๆต่อผู้อื่น ช่วยส่งเสริมความรู้สึกถึงความเป็นพวกพ้อง ลดทอนอคติและพร้อมที่จะอภัยให้กันเสมอ


2.การสื่อสารที่ดีต่อกัน – การสื่อสารทั้งทางคำพูดและท่าทางการแสดงออกสามารถสร้างได้ทั้งมิตรและศัตรู การผูกใจผูกมิตรย่อมต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะการสื่อสารที่ดีโดยพูดถึงแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ การเสริมสร้างกำลังใจให้กันและกัน ไม่เสแสร้งแกล้งทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดีหรือไม่สบายใจ


3.ความเข้าใจที่ดีต่อกัน – การจะอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับตัวปรับใจเข้าหากัน รับรู้และเข้าใจความแตกต่าง ใช้เหตุผลและเปิดใจรับฟังเพื่อหาจุดที่ยอมรับร่วมกันได้ ตรงข้ามกับการยึดมั่นถือมั่นเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่และไม่ยอมรับฟังผู้อื่นซึ่งมีแต่จะสร้างความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน


4.ให้ความเคารพต่อกัน – ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับในคุณค่าและตัวตน สิทธิ หน้าที่และบทบาททางสังคมของแต่ละคน นอกจากนี้ยังรวมถึงการยอมรับและปฏิบัติตามกติกาและระเบียบเพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม


5.มีน้ำใจที่ดีต่อกัน – เมื่อมีจิตใจและความคิดที่ดีย่อมนำไปสู่การกระทำที่ดีได้ เพื่อลดความเห็นแก่ตัวและการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจและความปราราถนาดีที่ถูกเติมเต็มด้วยการรู้จักเสียสละและเกื้อกูลประโยชน์บางส่วนเพื่อช่วยเหลือหรือแบ่งปันผู้อื่นตามสมควร


การจะปลูกฝังคุณค่าพื้นฐานทั้งหมดไปยังความคิดและจิตใจของเด็กๆให้ประสบความสำเร็จได้นั้น คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนสำคัญที่ทำให้เด็กมีความพร้อมและมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยอาศัย 5 แนวทางต่อไปนี้ในการเลี้ยงลูกที่จะช่วยให้เด็กเป็น “ที่รัก” ของทุกคนได้


1.ให้เวลาและความรัก – ความรักและความอบอุ่นเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ชีวิตนั้นมีความหมาย การแสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใยด้วยการสัมผัสและโอบกอด การยิ้มและบอกรักในทุกๆวัน รวมถึงการใช้เวลาครอบครัวร่วมกันอย่างสม่ำเสมอช่วยมอบคุณค่าทางจิตใจที่จะติดตัวเด็กไปจนโต เด็กที่เติบโตมาบนพื้นฐานดังกล่าวจึงถูกปลูกฝังการรับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น ช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์และความมั่นใจในตัวเองและพร้อมที่จะส่งต่อความสุขและพลังทางบวกให้กับคนรอบตัว


2.เปิดพื้นที่การสื่อสาร – ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเนื่องจากขาดการยอมรับและไว้วางใจกันที่ส่งผลกระทบไปสู่สภาวะทางอารมณ์และจิตใจของเด็กมักเป็นผลมาจาก ช่องว่างในการสื่อสารของคนในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวต่อเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งเปิดพื้นที่และเปิดใจรับฟังลูกๆในทุกเรื่อง ร่วมพูดคุยและให้คำแนะนำด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการตำหนิโดยใช้อารมณ์และคำพูดที่ไม่น่าฟัง ซึ่งแสดงถึงการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะสมาชิกครอบครัวและสังคม


3.สร้างตัวตนที่ชัดเจน – การส่งเสริมที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ในการปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้และร่วมกันค้นหาความถนัดจะช่วยให้เด็กๆค้นพบจุดแข็งและตัวตนผ่านการร่วมกิจกรรมเสริมทักษะและกิจกรรมทางสังคมที่สร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น สามารถจัดการและรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่ไม่เป็นดังใจได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในการปรับตัว มีความเข้าใจและใช้ชีวิตเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น


4.ฝึกฝนความรับผิดชอบ – พื้นที่ในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กจะได้เรียนรู้บทบาทและหน้าที่ทางสังคม การรักษากฎ กติกาและข้อตกลงของการอยู่ร่วมกับสมาชิกคนอื่น รวมทั้งเข้าใจถึงผลลัพธ์หรือบทลงโทษที่จะตามมา ผ่านการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำภายในบ้าน ฝึกฝนความตรงต่อเวลา การทำงานให้บรรลุเป้าหมาย การยอมรับในผลลัพธ์และความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างพื้นฐานเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบที่จะติดตัวเด็กไปจนโตเป็นผู้ใหญ่


5.เป็นส่วนหนึ่งของสังคม – การปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องช่วยกันกล่อมเกลาผ่านการร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กมองเห็นและเข้าใจถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การส่งต่อความปรารถนาดี ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น มีความเกรงใจและรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ตระหนักถึงความเชื่อมโยงของผลของการกระทำที่อาจสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ตลอดจนระลึกเสมอว่าการทำสังคมให้น่าอยู่และดีขึ้นได้นั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคน


การจะเป็นที่รักของคนอื่นนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงเพราะต้องการให้มีคนมารัก หากแต่เป็นการส่งต่อความรักและความปรารถนาดีให้กันและกันโดยเริ่มจากครอบครัวออกไปสู่สังคมส่วนรวม ซึ่งต้องอาศัยการปลูกฝังความคิดและจิตใจที่เด็กมีต่อตัวเองและผู้อื่นในฐานะสมาชิก เพื่อที่จะสามารถผลักดันตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น