xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรเมื่อลูกชอบโกหก / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ และบทสรุปที่น่าเศร้าของนิทานสอนให้รู้ว่าคนที่ชอบโกหก แม้จะนำความจริงมาพูดก็ไม่มีใครเชื่ออีกต่อไปเมื่อเป็นดังนี้แล้ว ถ้าเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่คงไม่ต้องการให้ใครมาประทับตราลูกของเราว่าเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” อย่างแน่นอน

การโกหกหรือไม่พูดความจริงจะนับเป็นกลไกพฤติกรรมตามธรรมชาติที่มีจุดมุ่งหมายบางประการในการแสดงออกของคนเราก็ว่าได้ ในบางครั้งอาจมีความจำเป็นหรือเหตุผลที่ดีมารองรับ แต่บ่อยครั้งก็ทำจนเห็นเป็นเรื่องปกติ เมื่อติดเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการยอมรับเชื่อถือจากคนรอบตัว หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าลูกของตัวเองมีพฤติกรรมชอบโกหก ก็ควรต้องเร่งหาวิธีแก้ไข โดยเริ่มจากทำความเข้าใจเสียก่อนว่าที่เด็กไม่พูดความจริงนั้นมีสาเหตุมาจากสิ่งใดบ้าง

1.พฤติกรรมเลียนแบบ ในทุกวันเด็กเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะรับเอานิสัยชอบโกหกจากคนใกล้ตัวมาใช้โดยเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครๆก็ทำกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

2.สร้างความสบายใจ ในบางครั้งประสบการณ์ทางสังคมก็สอนว่าการเลี่ยงความจริงอาจถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสัมพันธ์กับคนอื่น เนื่องจากความจริงบางเรื่องก็ดูจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยาก จึงเข้าใจผิดว่าการเลือกที่จะโกหกน่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างความสบายใจให้กับตัวเองและคนอื่นได้มากกว่า

3.ปกปิดความกลัว ความกลัวเป็นความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนที่มีในตัวทุกคน ไม่ว่าจะกลัวความผิด การลงโทษ การถูกทอดทิ้ง หรือความผิดหวัง โดยเฉพาะวัยเด็กที่ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ เด็กที่รู้สึกไม่มั่นคงจึงมักใช้การโกหกเป็นเครื่องมือในการปกป้องตัวเองจากความกลัว

4.หลีกหนีความจริง ความจริงนั้นโหดร้ายเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้กับเด็กหลายคนที่เติบโตในครอบครัวที่แตกแยก โยนความผิด ยัดเยียดความคาดหวัง ให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบ หรือบงการในทุกเรื่อง มีแนวโน้วที่จะใช้การโกหกเพื่อเอาตัวรอดและหลีกหนีจากสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการอยู่เสมอ

5.สร้างการยอมรับ หนึ่งในกระบวนการเติบโตจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่คือการสร้างตัวตนและคุณค่าให้กับตัวเอง แต่ด้วยความเข้าใจผิดหรือพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเองที่ทำให้เด็กใช้วิธีการผิดๆดังเช่นการสร้างเรื่องราวที่เป็นเท็จในการดึงดูดความสนใจหรือเพื่อสร้างการยอมรับจากคนที่อยู่รอบตัว

6.พัฒนาการตามวัย คุณพ่อคุณแม่พึงเข้าใจว่าเด็กแต่ละช่วงวัยมีการรับรู้และแสดงออกต่อการโกหกที่แตกต่างกัน ในเด็กเล็กการพูดเกินจริงมักสัมพันธ์กับจินตนาการและความสามารถแยกแยะเรื่องจริง ซึ่งควรใช้สื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ค่อยๆปรับมากกว่าการตัดสินผิดถูก ขณะที่ในเด็กที่โตขึ้นอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย การรับมือจึงควรต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย

7.มีความผิดปกติ บางครั้งการโกหกก็มาพร้อมกับพฤติกรรมร่วมที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง อาทิ ลักขโมย ทำลายสิ่งของ หรือชอบรังแกคนอื่น ซึ่งอาจเป็นผลจากการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ทำให้มีความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ หรือพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติและต้องการได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการโกหกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่มักถูกใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาบางเรื่อง ปกป้องตัวเองจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา หรือเกิดความผิดปกติบางอย่างจนกลายเป็นความจำเป็นที่ต้องนำวิธีการโกหกมาใช้โดยไม่ทันระมัดระวังถึงผลเสียที่จะตามมา ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมความผิดปกตินี้อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีที่จะช่วยไม่ให้เด็กรู้สึกว่าจำเป็นต้องโกหกอีกต่อไป

1.สร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจและการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำได้โดยการเปิดพื้นที่และจัดสรรเวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ให้เด็กได้มีโอกาสพูดและแสดงความต้องการของตัวเองภายใต้การรับรู้ ให้คำแนะนำและดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ตลอดจนทำให้แน่ใจว่าเมื่อเกิดปัญหา คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนแรกที่เด็กนึกถึงและคาดหวังถึงความช่วยเหลืออย่างเต็มใจมากกว่าการตำหนิหรือซ้ำเติม

2.สร้างความชัดเจน บ่อยครั้งที่เราใช้คำพูดหรือวิธีการที่คลุมเครือในการจัดการกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่า ข่มขู่ หรือลงโทษอย่างรุนแรง โดยหวังว่าเด็กจะสำนึกหรือเข้าใจได้เอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความกลัว ไม่เข้าใจและไม่พอใจ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดการต่อต้านและหาวิธีโกหกให้แนบเนียนยิ่งขึ้นไปอีก การสร้างความชัดเจนว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและต้องการการแก้ไขผ่านการอธิบายให้รับรู้และเข้าใจถึงผลเสียที่จะตามมา จนเกิดการยอมรับและรู้สึกสำนึกผิด การให้อภัยและเริ่มต้นใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น

3.ส่งเสริมความจริง แม้ว่าการพูดความจริงจะเป็นสิ่งที่ควรทำเสมอ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่รับมือได้ง่ายนักเมื่อต้องพบกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ การเรียนรู้วิธีพูดถนอมน้ำใจผู้อื่นแทนการโกหกหรือวิธีการรับมือในสถานการณ์ที่แตกต่างผ่านกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรถ่ายทอดและให้คำแนะนำแก่เด็กอยู่เสมอ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างกำลังใจให้กับเด็กๆได้ด้วยการให้รางวัลเป็นคำชมเชยหรือสิ่งตอบแทนเล็กน้อยเพื่อส่งเสริมการทำสิ่งที่ดีให้ติดตัวไปเสมอ

4.เสริมสร้างจุดแข็ง ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่พยายามพูดความจริงก็เพื่อหลบเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าเป็นปมด้อยหรือข้อจำกัดของตัวเองและต้องการดึงดูดความสนใจหรือการยอมรับจากคนอื่น เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยผลักดันการสร้างตัวตนที่แท้จริงของเด็กขึ้นมาโดยร่วมกันค้นหาความชอบ ความสนใจและสิ่งที่ทำได้ดีซึ่งเรียกว่าเป็นจุดแข็ง เริ่มต้นต่อยอดจากสิ่งนี้เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าและเกิดความมั่นใจในตัวเองจนสามารถหลุดพ้นจากวงจรการโกหกได้ในที่สุด

5.พฤติกรรมเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ทราบดีว่าสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ต้องการให้เด็กติดนิสัยชอบโกหกแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในทิศทางที่ถูกต้องเสมอ คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในครอบครัวจึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งสอดส่องดูแลการคบหาสมาคมกับกลุ่มเพื่อน เพื่อคอยให้คำแนะนำที่เหมาะสมและป้องกันการยกตัวอย่างคนใกล้ตัวมาอ้างถึงการไม่พูดความจริงได้

หากมองในแง่ดีแล้วเมื่อมีใครสักคนสร้างเรื่องโกหกขึ้นมา ก็นับเป็นโอกาสดีที่ช่วยกระตุ้นเตือนทุกคนในครอบครัวให้หันมาใส่ใจกันและกันมากขึ้นและร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง ก่อนที่พฤติกรรม “เด็กเลี้ยงแกะ” จะติดเป็นนิสัยจนทำให้ทุกคนต้องเบือนหน้าหนี


กำลังโหลดความคิดเห็น