“ธารไชยันต์” เผย ตร. ยังไม่แจ้งข้อหา “ร.ท.ฐิติทัตน์” เอี่ยวเงินทอนวัด ไม่หวั่นข้อครหา ทหารช่วยเหลือ ชี้ ยึดตามระเบียบ หากทำรุนแรง ถูกฟ้องกลับ แจงใช้มาตรการเดิม ดูแล กลุ่มคนเลือกตั้ง ชุมนุมหน้ายูเอ็น
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่กองทัพไทย พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสอบ ร.ท.ฐิติทัตน์ นิพนธ์พิทยา ทหารสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเงินทอนวัด ว่า ในชั้นต้นได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ว่า ในสิ่งที่เกิดขึ้น มีข้อมูลอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากทางตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา เพียงแต่เชิญ ร.ท.ฐิติทัตน์ ไปสอบสวน ยังไม่ได้มีการกล่าวหาโทษแต่อย่างใด
“ทั้งนี้ เรายินดีให้ความร่วมมือหาก ร.ท.ฐิติทัตน์ มีความผิด หรือทางตำรวจได้ชี้ประเด็นมาว่าผิดอย่างไร เราก็จะดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งเบื้องต้นเขามารายงานตัวกับผู้บังคับบัญชาเรียบร้อยแล้ว และสั่งสำรองราชการไว้ก่อน หมายถึงไม่ให้เขาใช้ตำแหน่งหน้าที่เดิมไปมีบทบาท หรือมีอิทธิพลเหนือหลักฐานต่างๆ แต่ยังคงได้รับเงินเดือน เพราะความผิดไม่สำแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา” พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว
พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวล หากถูกมองว่า ทหารช่วยเหลือกัน เพราะทุกอย่างต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางราชการ หากดำเนินการรุนแรงกว่านี้ เขาฟ้องกลับว่าใช้อำนาจเกินกว่าเหตุจะทำอย่างไร คงรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหากับ ร.ท.ฐิติทัตน์ ก่อนค่อยดำเนินการ
“หน้าที่ของกองทัพตอนนี้ คือ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย หากมีข้อสงสัยว่า เขาทำให้กองทัพเสียหาย ซึ่งก็ดำเนินการอยู่ แต่ในทางกฎหมายอาญา ทางตำรวจยังไม่แจ้งข้อหาใด เพราะทราบว่ามา ร.ท.ฐิติทัตน์ ได้ชี้แจงกับตำรวจ กรณีมีอาวุธปืนหลายสิบกระบอก ซึ่งทุกกระบอกมีหลักฐานการครอบครอง ถูกต้อง ส่วนเงินทอนวัด เขาปฏิเสธไม่เกี่ยว” ผบ.ทสส. กล่าว
พล.อ.ธารไชยันต์ ยังกล่าวถึงกรณี การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันที่ 7 มิถุนายน นี้ ว่า การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนของทุกครั้งที่มีการชุมนุม โดยจะเน้นการทำความเข้าใจพูดคุย ส่วนมีการวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งอาจต้องขยับไป จาก ก.พ. 2562 นั้น เบื้องต้นทุกอย่างยังเป็นไปตามเดิม คือ เลือกตั้ง ก.พ. 2562
พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวยืนยันว่า ในส่วนของกองทัพต่อจากนี้ไป ก็ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ และดูแลความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ในส่วนของเรื่องความมั่นคงนั้น ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบางกรณี