xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวทางจัดระเบียบ “โรงทาน-บริจาคของ” ทำดี มีน้ำใจ แบบไร้ “โควิด”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะลดลง แต่ก็ยังประมาทหรือการ์ดตกไม่ได้ หนึ่งในเรื่องน่ากังวลขณะนี้ คือ การออกมารวมตัวกันของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะการตั้งโรงทานหรือจุดบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่หากไม่ระวัง ก็อาจเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้

ที่ผ่านมาจะเห็นภาพปรากฏตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่ามีประชาชนมารอรับสิ่งของบริจาคกันจำนวนมาก ที่เรียกได้ว่าค่อนข้างแออัด ไม่ว่าจะเป็นการรับแจกสิ่งของที่บริเวณหน้าวัดดอนเมือง หรือชาวบ้านที่ขอนแก่นออกมาต่อแถวรับแจกเงินแจกสิ่งของจากเจ้าของร้านสังฆทานและคณะศรัทธา วัดป่าพระยิ้ม เจดีย์ทองคำ เบียดเสียดจนยาวกว่า 2 กิโลเมตร


พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การบริจาคสิ่งของหรือการตั้งโรงทาน ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของสังคมไทย ที่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นเรื่องที่ทั่วโลกก็เคยชื่นชมมาตลอด แม้แต่สถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ก็ยังดูแลซึ่งกันและกัน แต่ด้วยลักษณะของโรคโควิด-19 เราจะแจกสิ่งของหรือตั้งโรงทานในแบบเดิมๆ อีกไม่ได้ จะต้องเกิดบรรทัดฐานใหม่หรือจัดระเบียบการแจกสิ่งของ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าการออกมารวมตัวกันแบบนี้ก็เป็นความเสี่ยง

แล้วการบริจาคของหรือตั้งโรงทานแบบปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ทำได้อย่างไร?


พญ.พรรณพิมล อธิบายว่า โดยปกติแล้วการแจกสิ่งของ อาหารต่างๆ จะมี 2 รูปแบบ คือ 1.การตระเวนเคาะประตูบ้านเพื่อมอบสิ่งของในพื้นที่ชุมชน และ 2.การตั้งจุดบริจาคหรือโรงทาน ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ทำในรูปแบบของการลงพื้นที่ไปแจกตามบ้าน เนื่องจากจะเกิดภาพการรวมตัวลงไปในพื้นที่ชุมชนและเราไม่รู้ว่าครอบครัวไหนที่มีการกักตัว (Home Quarantine) หรือไม่ ซึ่งก็เข้าใจว่า บางทีคนบริจาคก็อาจอยากให้กับมือ ไปเห็นกับตาว่าของที่เราบริจาคได้ไปถึงมือผู้รับจริง แต่ขอแนะนำว่า ควรจะนำของไปตั้งไว้ในจุดกลางจะดีกว่าเดินไปลุยตามบ้าน

“หากท่านอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ก็อาจจัดการพื้นที่บ้านหรือร้านของตัวเองให้เป็นจุดบริจาค และให้คนมารับสิ่งของได้ โดยคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย หรือหากจะเข้าไปในชุมชนก็อาจตรวจสอบข้อมูลกับหัวหน้าหรือผู้นำชุมชนก่อน ซึ่งจะทราบข้อมูลรายละเอียดของคนในชุมชน ก็หารือเพื่อกำหนดจุดกลางในการบริจาคสิ่งของ ที่เราพยายามเน้นบริหารจุดกลาง เพราะจะกระจายครอบคลุม ซึ่งในชุมชนผู้นำจะทราบว่าบ้านไหนเป็นอย่างไร เช่น บ้านนี้มีคนกักตัว ก็อาจจัดสิ่งของเป็นชุดๆ แล้วผู้นำชุมชนหรือ อสม.ที่มีหน้าที่ต้องไปตรวจเยี่ยมที่บ้านอยู่แล้ว เป็นผู้นำไปให้ก็จะปลอดภัยกว่า” พญ.พรรณพิมล กล่าว


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ส่วนการจัดการพื้นที่เป็นจุดบริจาคอาหารและสิ่งของ ส่วนใหญ่มักเป็นศาสนสถานหลายแห่ง ที่ทำหน้าที่เป็นโรงทาน หรือเป็นพื้นที่ทางการกำหนดขึ้น หลักคิดคือทำอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งผู้จัดการและผู้มารับ บนหลักการไม่ให้เกิดแออัดหรือการรวมตัวกัน ซึ่งตรงนี้จะพิจารณาใน 3 ส่วน คือ

1.การจัดการเรื่องพื้นที่ ซึ่งมี2 รูปแบบ คือ กำหนดจุดพื้นที่ไปร่วมบริจาคตามจุดต่างๆ หรือ การทำบนพื้นที่ตัวเอง เช่น ร้านอาหาร ที่อาจมีการจัดอาหารจำนวนหนึ่งออกมาบริจาคโดยจัดจุดเล็กๆ ในพื้นที่ตัวเอง เป็นต้น โดยทั้ง 2 รูปแบบนี้ ขอให้มีระบบการคัดกรองที่กำหนดจำนวนคนเข้ามาไม่ให้มากเกินไป เช่น 200-300 คน มีการวัดไข้ และจุดที่เข้ามาต้องมีจุดให้ล้างมือได้ด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กำหนดพื้นที่ระยะห่าง โดยอาจขีดเส้นหรือวางกรวย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ไม่แออัด และให้เข้ามาโดยลำดับ ตอนนี้มักจะใช้พื้นที่โล่ง ส่วนต่างจังหวัดบางที่มีการจัดแบบไดรฟ์ทรู คือ ขับรถเข้ามารับแล้วขับออกไป โดยใช้เวลาสั้นๆก็เป็นรูปแบบที่ทำได้


2.การจัดการด้านอาหาร มี 2 ส่วน คือ อาหารแห้ง และอาหารปรุงสำเร็จ ทั้งนี้ อาหารแห้งขอให้ดูเรื่องความเรียบร้อยตัวอาหาร อย่างอาหารกระป๋องขอให้ดูเรื่องเลขสารบบอาหาร (อย.) ต้องไม่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ไม่มีรอยรั่ว และควรจัดไว้เป็นชุดๆ เพื่อความะสดวกและความปลอดภัย

หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จ ต้องดูแลตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ สถานที่เตรียมปรุง และจุดรับอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค โดยควรอยู่ในพื้นที่โล่งที่มีการระบายอากาศได้ดี ผู้ปรุงประกอบอาหารควรสวมหน้ากาก ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ไม่ควรสัมผัสอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์โดยตรง และล้างมือหลังการสัมผัสเนื้อสัตว์ทุกครั้ง รวมทั้งแยกภาชนะ อุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร เช่น เขียง มีด ระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เน้นปรุงอาหารให้สุกอย่างน้อย 30 นาทีด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 60 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงการปรุงประกอบอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิ เป็นต้น

“ขอให้ดูเรื่องเวลาโดยต้องปรุงสุกร้อนใหม่ๆ และอยู่ในภาชนะปิดมิดชิด จัด 1 ชุด 1 ท่านเพื่อสะดวกการจัดการในเชิงพื้นที่ ที่ต้องคำนึงเรื่องนี้เพราะเราไม่ให้มีการนั่งรับประทานในพื้นที่ตรงนั้น จึงต้องเผื่อเวลาให้ผู้มารับอาหารเดินทางกลับไปรับประทานที่บ้านด้วย โดยต้องกะเวลาในการปรุงอาหาร และการแจกอย่าให้เกิน 1-2 ชั่วโมง จะได้ปลอดภัย” พญ.พรรณพิมลกล่าว


3.ผู้มารับบริจาคเอง ข้อปฏิบัติ คือ เหมือนการออกจากบ้าน ต้องสวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อเข้ามาในจุดต้องล้างมือให้สะอาด ดูระยะห่างจากคนข้างหน้า หากอยู่ในช่วงไม่สบาย ไอ จาม ไม่อยากให้ออกมา โดยอาจส่งตัวแทนในครอบครัวมารับ และให้บอกว่าคนที่บ้านมีคนรออยู่ ก็เอาอาหารหรือสิ่งของต่างๆ กลับไป ทั้นี้ อาหารปรุงสำเร็จเมื่อนำกลับไปทานที่บ้าน ควรต้องอุ่นอีกครั้งก่อนกินก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้น

“ช่วงนี้การบริจาคสิ่งของหรืออาหารอาจทำให้ขยะพลาสติกค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่างอาหารที่จัดใส่ภาชนะมิดชิด ก็อาจไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกอีก ผู้ที่มารับบริจาคอาจใช้ถุงผ้ามาใส่อาหารที่บรรจุไว้เรียบร้อยแล้ว ก็จะช่วยลดพลาสติกช่วยการจัดการขยะในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดการพื้นที่และการออกแบบที่ดี ผู้บริจาคและคนรับบริจาคก็จะมีความอิ่มใจและบรรลุผลอย่างที่เราต้องการ ม่ความสะอาด ปลอดภัย ทุกคนก็ลดความเสี่ยงจากการแพร่ของตัวเชื้อเช่นกัน ขอสนับสนุนทุกท่านที่มีกำลังในการออกมาบริจาค เพื่อเดินหน้าผ่านวิกฤตไปด้วยกัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

อยากทำดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต้องมีระบบบริหารจัดการหรือจัดระเบียบจุดบริจาคที่ดี เพื่อให้ปลอดจากโรคโควิด-19 ทั้งคนให้และคนรับ










กำลังโหลดความคิดเห็น