กรมวิทย์ ถอดรหัสพันธุกรรม “เชื้อโควิด” ในไทยเบื้องต้น แบ่ง 3 กลุ่ม คือ A มาจากค้างคาวในจีน B กลายพันธุ์มาจากอู่ฮั่น ส่วนใหญ่ระบาดในไทย และ C กลายพันธุ์จาก B จากทางยุโรปและสิงคโปร์ แต่การกลายพันธุ์ต่างกันเพียง 1 จุด ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความรุนแรงโรคและการติดต่อ เตรียมขยายการถอดรหัสเพิ่มขึ้น
วันนี้ (26 เม.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลแล้ว ถือว่าไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ค่อนข้างช้ากว่า ซึ่งคนไทยอาจจะกังวลว่า การกลายพันธุ์จะทำให้โรครุนแรงมากขึ้น ติดกันง่ายมากขึ้นหรือไม่ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ไวรัสโคโรนา 2019 การกลายพันธุ์น้อยมาก ยังไม่มีนัยสำคัญว่า การกลายพันธุ์ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือติดง่ายขึ้น ขณะนี้เราเพิ่มนำเชื้อจากผู้ป่วยมาตรวจสอบและวิเคราะห์เพียง 20 ตัวอย่าง และกำลังจะวิเคราะห์ให้ครบ 40 ตัวอย่าง โดยคณะผู้วิจัย ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิริราช จะพยายามศึกษาติดตามถอดรหัสพันธุกรรมให้มากที่สุด เพื่อติดตามความรุนแรงต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาวัคซีนหรือวิธีการตรวจใหม่ๆ ด้วย
ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 คุณสมบัติการจับตัวกับมนุษย์มีความแตกต่างกันกับไวรัสโรคซาร์ส ทำให้การก่อโรคต่างกัน ทั้งนี้ จากการเอาเชื้อไวรัสของผู้ป่วยหลายๆ รายมาศึกษาถอดรหัสพันธุกรรม พบว่า กลุ่มเชื้อไวรัสสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม A ซึ่งมีต้นตอการระบาดในจีนที่มาจากค้างคาว 2. กลุ่ม B มีการกลายพันธุ์บางส่วน เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในอู่ฮั่น โดยประเทศไทยการระบาดส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มบี และ 3. กลุ่ม C มีการกลายพันธุ์เล็กน้อยจากกลุ่ม B อีกทีหนึ่ง เป็นการระบาดในยุโรปและสิงคโปร์
ดร.พิไลลักษณ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการแบ่งสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น 3 สายพันธุ์ คือ ไทป์ S G และ V โดยประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบหลักๆ คือ ไทป์ S แต่สายพันธุ์ S G และ V มีความแตกต่างกันที่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น คือ จีโนมทั้งเส้นมีความแตกต่างกัน 1 จุด ยังไม่แสดงผลว่า มีการก่อโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น การศึกษาต่อๆ ไป จากที่เราศึกษา 40 ราย เราจะถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มจนครบ 100 ราย เพื่อดูการกระจายตัวและดูสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปต่อ โดยอนาคตจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ สภากาชาดไทย
เมื่อถามว่า การแบ่งกลุ่ม A B C และสายพันธุ์ย่อย S G V มีความแตกต่างกันอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า การแบ่งกลุ่ม A B C เป็นการแบ่งกลุ่มเบื้องต้นคร่าวๆ เพราะเราวิเคราะห์เพียงแค่ 20 ตัวอย่าง แต่จะมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม