xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชี้ “COVID-19” มีวิวัฒนาการ อย่าเรียกกลายพันธุ์ หวังลดความรุนแรงลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญชี้ ไวรัส COVID-19 มีวิวัฒนาการ แต่อย่าเรียกว่ากลายพันธุ์ ทำให้มีการแบ่งกลุ่มการระบาด เป็นกลุ่ม L type และ S type ต้องติดตามข้อมูล ช่วยบอกทางด้านระบาดได้ ระบุความหลากหลายของมนุษย์ทำให้บางคนติดเชื้อยากง่ายหรือรุนแรงแตกต่างกันไป หวังไวรัสลดความรุนแรงลง คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น

วันนี้ (10 มี.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกระแสการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า การวิวัฒนาการของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” อย่าเรียกเป็นการกลายพันธุ์เลย เพราะไวรัสหรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ต้องมีการวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป จึงไม่เป็นเรื่องแปลกของไวรัสที่จะวิวัฒนาการ แบ่งกลุ่มการระบาดออกไป โดยหลักการของสิ่งมีชีวิตเมื่อไปอาศัยผู้อื่นอยู่ก็ไม่อยากที่จะทำร้ายถิ่นอาศัย เพราะตัวเองก็จะไม่มีที่อยู่ด้วย ดังเห็นได้จากไวรัสหลายชนิดนั้นหลังการระบาดใหญ่ที่รุนแรงจะเป็นโรคประจำถิ่น เช่น โรคทางเดินหายใจหลายชนิด จะลดความรุนแรงลง พร้อมทั้งประชากรส่วนใหญ่ก็จะมีภูมิต้านทานขึ้น เช่น ตัวอย่างไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อเข้ามาปีแรกมีความสูญเสียค่อนข้างมาก และหลังจากนั้นไวรัสตัวนี้ก็อยู่ประจำถิ่น เป็นไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลมาอีกนานมาก, ไข้ทรพิษในการระบาดระยะแรกมีการสูญเสียเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงคิดวัคซีนในการป้องกันและในที่สุด ไข้ทรพิษก็หายไปจากโลกเรานี้

ในทำนองเดียวกัน ไวรัสตัวเดียวกันเมื่อติดเชื้อในมนุษย์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีความแตกต่างกัน บางคนติดเชื้อง่าย บางคนติดเชื้อยาก บางคนเป็นรุนแรง บางคนไม่รุนแรง เพราะพันธุกรรมของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตจึงต้องมีความหลากหลาย ตามกฎเกณฑ์ของชาร์ล ดาร์วิน ถ้าเราไม่สามารถปราบโคโรนาไวรัสโควิด 19 ให้หมดไป เราก็หวังว่าไวรัสลดความรุนแรงลง พร้อมกับประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิต้านทานมากขึ้น และมีการรักษาที่ดีขึ้น หรือมีวัคซีนในการป้องกัน ก็จะช่วยลดความสูญเสียต่อประชากรในโลกได้

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ว่าวิวัฒนาการของโคโรนาไวรัส โควิด 19 หลังจากโรคนี้ระบาดเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่มีการถอดรหัสพันธุกรรมจริงๆ เกือบ 2 เดือนมาแล้ว วิวัฒนาการของ RNA virus ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ เช่น HIV, RSV Influenza ก็จะมีการแบ่งกลุ่มย่อยออกไป ใน HIV เราก็จะเห็นเป็นกลุ่มๆ A, B, C ใน RSV ก็จะแบ่งเป็น RSV-A, RSV-B และในแต่ละกลุ่มของ RSV ยังแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นจำนวนมาก ทำนองเดียวกันจึงเป็นเรื่องปกติที่โคโรนาไวรัสจะมีวิวัฒนาการแบ่งกลุ่มออกไป

การศึกษาของนักวิจัยจีน ศึกษาพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 จากทั่วโลกจำนวนทั้งสิ้น 103 ตัวอย่าง พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มย่อยตามการเปลี่ยนแปลงของลำดับเบส 2 ตำแหน่ง โดยตำแหน่ง แรกไม่เปลี่ยนการสร้างกรดอะมิโน ตำแหน่งที่ 2 เปลี่ยนการสร้างกรดอะมิโน โดยพบต้นตอที่เกิดที่เมืองอู่ฮั่น ตำแหน่งกรดอะมิโนนี้ คือ Serine และต่อมาวิวัฒนาการเปลี่ยนเป็น Leucine จึงแยกชนิดของไวรัสเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียก S type (Serine) และกลุ่มที่ 2 เรียก L type (Leucine) โดย L type วิวัฒนาการมาจาก S type ต่อมาพบว่า L type แพร่กระจายได้ดีกว่า จึงทำให้พบ L type มากกว่า S type แต่จากการควบคุมการเดินทาง กักกันโรค ทำให้ L type ที่พบได้มาก มีแนวโน้มลดลง และ S type อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคตก็เป็นไปได้ คงต้องติดตาม ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยบอกทางด้านระบาดวิทยา และต่อไปก็จะมีการวิวัฒนาการแบ่งกลุ่มย่อยออกไปอีก

ข้อมูลนี้ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น ในระยะเวลาอันสั้นจะต้องมีการศึกษาต่อถึงอาการทางคลินิกในแต่ละกลุ่ม และทิศทางการระบาดในแต่ละกลุ่ม จากการศึกษาโดยทีมของเราพบว่า ในการระบาดอยู่ขณะนี้จากข้อมูล GISAID ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จะยังเห็นว่า L type ระบาดมากสุดทั่วโลก ทั้งในฝั่งของเอเชียและยุโรป ในขณะที่อเมริกา และออสเตรเลีย พบว่าเริ่มมีการระบาดของ S type ด้วย อย่างไรก็ตามจะต้องมีการติดตามตามระยะเวลาต่อไปที่ยาวนานขึ้น และต้องศึกษาความสัมพันธ์ทางคลินิก ความรุนแรงของโรค ระบาดวิทยา รวมทั้งระบบภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ภูมิต้านทานจะเกี่ยวข้องกับส่วนของ spike gene มากกว่า วิวัฒนาการของโคโรน่าไวรัส โควิด 19 เมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ยังช้ากว่าไข้หวัดใหญ่ที่มีการวิวัฒนาการมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น