ผลสำรวตชี้กรณี “แมทธิวรับติดโควิด-19” ทำสังคมตระหนักเรื่องโควิด-19 เป็นวงกว้าง ส่วน ”ฟ้าทะลายโจร” ถูกบิดเบือน Fake News เยอะที่สุด เผย 7 อันดับคนพูดถึงบนออนไลน์มากสุด "สวดมนต์ไล่โควิด" พุ่งสูงสุด
นายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้อมูลบนโลกออนไลน์ บริษัท แบ็คยาร์ด ได้จัดทำบทวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับการพูดถึงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2563 ผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแหล่งข้อมูลที่รวบรวม พร้อมเปรียบเทียบกับรายงานสถานการณ์ เหตุการณ์สำคัญ และยอดผู้ติดเชื้อด้วยใช้เครื่องมือ Ladder Social Analytic ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์สุ้มเสียงของผู้ใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์
โดยบทวิเคราะห์ชุดนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ Overview, Mentioned Topics, Social Voice ในจังหวัดในประเทศไทย, Asking Topic ประเด็นที่สังคมออนไลน์ตั้งคำถามมากที่สุด และ Fake News จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบนสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ในระยะเวลา 3 เดือน ประเด็นเกี่ยวกับโควิด-19 ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์กว่า 1,300,000 ครั้ง ซึ่งสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับ “รัฐบาล” “หน้ากากอนามัย” และ “มาตรการ” ไม่ว่าจะในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กับ สุ้มเสียงที่ปรากฎบนโลกออนไลน์ ปรากฏข้อมูลเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 7 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 “สวดมนต์ไล่โควิด-19” ช่วงวันที่ 18 มี.ค., อันดับที่ 2 ได้แก่ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" 24 - 26 มี.ค., อันดับที่ 3 ได้แก่ “แมทธิว ดีน ติดโควิด-19” 13 - 14 มี.ค., อันดับที่ 4 ได้แก่ “มาตรการแจกเงินเยียวยา” 6 มี.ค., อันดับที่ 5 ได้แก่ “เคสปู่ย่าติดโควิด-19 ลามถึงหลาน” 26 - 27 ก.พ., อันดับที่ 6 ได้แก่ “หลังจากอู่ฮั่นประกาศปิดเมือง” 23 - 31 มี.ค. และอันดับที่ 7 ได้แก่ “คนไทยกลับจากอู่ฮั่น” 4 ก.พ.
แม้ว่า “มาตรการ” จะเป็นประเด็นแรกที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจ แต่ก็ถูก “รัฐบาล” แซงขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น รวมไปถึงคำว่า “รัฐบาล” กับ “มาตรการ” ที่ดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน เพราะมีเปอร์เซ็นต์ความสัมพันธ์สูงมากถึง 95% เมื่อตรวจสอบประเด็นที่ถูกพูดถึงในระบบ พบว่า สุ้มเสียงในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องให้มีมาตรการต่างๆ มารองรับกับสถานการณ์โควิด-19
และเมื่อจำแนกข้อมูลรายจังหวัดที่ได้รับการพูดถึงบนโลกออนไลน์ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า จำนวนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่กรณี “แมทธิว ดีน ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองติดโควิด-19” เชื่อมโยงสนามมวยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อมีกรณี “ปิดเมืองบุรีรัมย์” รวมทั้งกรณี “คนกลับจากการร่วมกิจกรรมทางศาสนาในมาเลเซีย” 3 กรณีนี้ส่งผลทำให้จำนวนการพูดถึงโควิด-19 เชื่อมโยงกับต่างจังหวัดมีสัดส่วนที่โดดเด่นขึ้นด้วย สูงถึง 69% ของทั้งหมด
สำหรับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี เป็นต้น กลุ่มคำที่มีความเกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ที่สื่อสังคมออนไลน์นิยมพูดถึง 3 กลุ่มคำแรก ก็มักจะเป็น “นักท่องเที่ยว”, “มาตรการ” และ “นายก” (จากทั้งหมด 224 กลุ่มคำ) ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าส่วนใหญ่ คำว่า “นายก” หรือ นายกรัฐมนตรีมักจะได้รับการพูดถึงบนโลกออนไลน์ โดยผูกโยงเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละจังหวัดร่วมด้วย นอกจากนี้ประเด็นที่สังคมออนไลน์ ตั้งคำถามมากที่สุด พบว่าภายใน 1 สัปดาห์ (24 - 31 มีนาคม 2563) มีการตั้งโพสต์ กระทู้ หรือเอกสารที่มีการตั้งประเด็นสอบถาม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กว่า 5,534 ครั้ง ซึ่งมักตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการ ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น และประกัน
1.มาตรการ สังคมออนไลน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องประกันสังคม, เงินชดเชย/เงินเยียวยา, แรงงานนอกระบบ, การพักชำระหนี้ และการลดดอกเบี้ย ตามลำดับ 2.ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น สังคมออนไลน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย, แอลกอฮอล์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, เจลล้างมือ, และวัคซีนตามลำดับ 3.ประกัน สังคมออนไลน์ให้ความสนใจเกี่ยวกับประกัน COVID-19, ประกันภัย, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุ ตามลำดับ
ในส่วนของ Fake News ประเด็นข่าวปลอมภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พบว่าภายใน 1 สัปดาห์ (24 - 31 มีนาคม 2563) มีการพูดถึงกลุ่มคำที่มีแนวโน้มเป็นประเด็น Fake News กว่า 1,255 ครั้ง ซึ่งได้แก่ สมุนไพร, ฟ้าทะลายโจร, น้ำเกลือ, ผ้าอนามัย และดื่มน้ำอุ่น
สำหรับประเด็นสมุนไพร และฟ้าทะลายโจรนั้น การพูดถึงส่วนใหญ่มาจากโพสต์ขายผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพร และ/หรือ ฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนผสม โดยใช้ข้อความที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดประเด็นที่บิดเบือน และสร้างความเข้าใจผิดแก่สังคมออนไลน์ได้ ดังจะเห็นได้จากโพสต์ที่มีการระบุชัดเจนว่า “ยับยั้งการติดเชื้อได้” หรือ “ต้มสมุนไพรแก้โรคโควิด-19ได้” ซึ่งประเด็นนี้ ผู้วิจัยแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้มีการบิดเบือน ขยายผล จนนำไปสู่ข้อความหรือความเข้าใจอันเป็นเท็จ