xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอย่าใช้ "เฟซชิลด์" แทนหน้ากากผ้า ยังเสี่ยงโควิดได้ แต่ควรใช้เสริมกัน หากเปิดร้านอาหารนั่งกินต้องจัดการ 3 เรื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เตือนวงการดาราพิธีกรจัดรายการ ใส่แค่เฟซชิลด์ไม่ช่วยป้องกัน ยังเสี่ยงเชื้อโควิด ย้ำเฟซชิลด์ไม่ได้มาแทนหน้ากาก แต่เป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มจากการใส่หน้ากาก สำหรับคนที่ทำอาชีพเสี่ยงสูง ส่วนร้านอาหารหากเปิดนั่งกิน ต้องจัดการความสะอาด จัดการพื้นที่ไม่แออัด เว้นระยะห่าง จำกัดเวลาไม่อยู่นาน มีระบบคัดกรอง

วันนี้ (23 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีบางกลุ่มบางอาชีพ เช่น นักแสดง พิธีกรรายการ ใช้แค่กระจังหน้า (Face Shield) สนทนากัน เพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิด-19 หรือไม่ ว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น การสวมเฟซชิลด์เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมเพิ่มจากหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเท่านั้น ไม่สามารถจะใช้ทดแทนกันได้ เช่น บุคลากรสาธารณสุข ที่ต้องทำงานบนความเสี่ยงมากๆ ที่อาจจะเจอเหตุไม่คาดฝัน คนไอจาม ใส่หน้า หรือพนักงานขายของในร้านสะดวกซื้อ หรือคนที่ต้องเจอคนมากๆ ก็อาจใช้เสริมได้ ซึ่งต้องย้ำว่า การใช้เฟซชิลด์ต้องคู่กับหน้ากากทุกครั้ง การใส่เฟซชิลด์เพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับการไม่ใส่เครื่องป้องกันอะไรเลย เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 แต่ส่วนแม่ครัวที่ทำอาหารอาจใส่หน้ากากตลอดเวลาไม่ได้ เพราะต้องมีการชิม การถอดเข้าถอดออกก็เป็นความเสี่ยง ก็จะมีอุปกรณ์ป้องกันในส่วนของปากที่จะกรองไม่ให้น้ำลายกระเซ็นตกลงไปในอาหาร ซึ่งก็สามารถช่วยลดการถอดเข้าออกของหน้ากากได้ และการทำอาหารส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้เจอคนอยุ่แล้ว ก็อาจใช้แบบนี้ได้


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาเปิดบางกิจการนั้น ทำอย่างไรที่จะไม่มีการติดโควิด-19 การเปิดต้องมีเงื่อนไข คือ 1.เรื่องของความสะอาด ซึ่งเป็นพื้นฐานตามกฎหมายเดิม แต่ต้องทำเพิ่มขึ้นในเรื่องของจุดสัมผัส การดูแลบุคลากร หากพนักงานมีอาการต้องให้หยุดทันที 2.การจัดการสถานที่ต้องไม่แออัด ไม่หนาแน่น และไม่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ดังนั้น หากเป็นพื้นที่เปิดโล่งก็จะได้เปรียบมากหน่อย แต่หากเป็นพื้นที่ร้านต้องดูว่าพื้นที่จะเข้าไปอยู่ได้เท่าไรไม่แออัดเกินไป แล้วทำอย่างไรให้เกิดระยะห่างในพื้นที่ได้ จัดระบบนัดหมาย การจำกัดเวลา รวมถึงมีการคัดกรองก่อนเข้ามา และ 3.ผู้เข้าใช้บริการ ก็ต้องปรับตัว คือ ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากาก อย่างบางที่ไม่อนุญาตให้เข้าไป เพื่อให้ปลอดภัยทั้งผู้บริการและผู้เข้ารับบริการ

"กิจการที่น่าจะได้รับการผ่อนปรนก็ต้องใช้หลักการแนวทางแบบนี้ ปรับตัวทั้งผู้ให้บิรการ ผู้เข้ารับบริการ ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร เราก็ส่งคนไปดูต้นแบบว่าจะทำได้อย่างไร ซึ่งระดับร้านอาหารทั่วไปก็ต้องสามารถจัดการและประกอบอาชีพไปได้ ไม่ใช่แค่ระดับภัตตาคาร อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารบางประเภทอาจจะยังไม่แนะนำให้เปิดได้ เช่น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ เพราะอาจจะยังจัดการตามหลักการไม่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารมีหลายแบบหลายระดับ หลักการใช้แบบเดียวกัน แต่วิธีการจัดการก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ การดูแลพนักงานและคนรับบริการ หรือรูปแบบบริการว่าจะจัดอย่างไร" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า หลังมีการรับประทานอาหารในร้านเสร็จทุกครั้งต้องมีการทำความสะอาด ซึ่งจะใช้เพียงแค่ผ้าชุบน้ำเปล่าเช็ดโต๊ะไม่ได้ แต่ต้องผสมน้ำยาทำความสะอาด เพื่อความปลอดภัย เพราะเชื้อโควิดก็ตายง่าย เพียงแค่ใช้น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งอาจต้องมีการสุ่มตรวจว่าท่านทำทุกครั้งหรือไม่ เพราะเมื่อก่อนก็เป็นเกณฑ์ว่าเช็ดโต๊ะทกครั้ง แต่คราวนี้ต้องทำทุกครั้ง ส่วนเรื่องของขยะ ตัวที่สัมผัสกับเรา เช่น กระดาษ ทิชชู่ ต้องถูกกำจัดด้วยระบบจัดการตามมาตรฐาน เป็นเงื่อนไขว่าหากอยากจะเปิดก็ต้องทำเรื่องเหล่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น