สปคม.เผยค้นหาโควิดเชิงรุกเขตบางเขน เหตุเป็นที่ตั้งสนามมวย ต้นตอการแพร่ระบาด ค้นในกลุ่มคนเก็บขยะ แม่ค้า คนขับรถ และคนมีอาการ รวม 1.8 พันคน เจอติดเชื้อแค่ 1 ราย สะท้อนสถานการณ์ลดลง เตรียมดำเนินการเพิ่มในชุมชนแออัดคลองเตย และทองหล่อ ย้ำมาตรการกักตัว 14 วันคนกลับจากนอก ช่วยป้องกันแพร่ระบาดในชุมชน ขอประชาชนโดยรอบที่กักตัวอย่าต่อต้าน
วันนี้ (23 เม.ย.) นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การดำเนินการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เลือกดำเนินการในพื้นที่เขตบางเขนและเขตคลองเตย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตบางเขนแล้ว ส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่เขตนี้ คือ เป็นที่ตั้งของ สปคม. และยังเป็นที่ตั้งของสนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จึงเลือกพื้นที่นี้เพื่อพิสูจน์ว่า การระบาดไปถึงขนาดไหนในชุมชน และจากข้อมูลของประเทศที่ว่าลดลงนั้น ลดลงจริงหรือไม่
นพ.เอนก กล่าวว่า การค้นหาเชิงรุกจึงดำเนินการในชุมชนเขตบางเขน โดยเลือกประชากรกลุ่มที่รากหญ้าที่สุด เช่น 1. คนเก็บขยะ เพราะมีการใช้และทิ้งหน้ากากอนามัยจำนวนมาก จึงต้องค้นหาว่ามีการปนเปื้อนติดเชื้อหรือไม่ หรือกลุ่มเปิดค้าขาย อย่างแม่ค้าในตลาดสด คนขายอาหารสด เพราะเป็นสถานที่ที่คนยังพลุกพล่าน เพื่อดูว่าประชาชนมีโอกาสรับเชื้อหรือไม่ 2. คนขับรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เพราะถ้าจะปลดล็อกบางพื้นที่ก็ต้องสร้างความมั่นใจว่า มีการติดเชื้อในกลุ่มเหล่านี้หรือไม่ เพราะมีโอกาสแพร่ระบาดเกิดโรค และ 3. คนมีอาการในชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการตรวจติดตามทั้งหมด 1,876 ราย โดยเจอผู้ป่วยเพียง 1 ราย สอดคล้องกับความจริงว่า สถานการณ์เริ่มลดลงจริงๆ ดังนั้น ถ้าลดลงขนาดนี้การนำเข้าของเชื้อจากต่างประเทศนั้น มาตรการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State Quarantine) จึงเป็นหัวใจหลักในการควบคุมโรคในระดับท้องที่ไม่ให้มีการระบาดต่อไป
“อยากขอให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานที่กักตัวของรัฐ อย่าตื่นกลัว เพระามาตรการนี้เป็นเครื่องมือลดปริมาณเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย อยากให้คนอยู่ใกล้ๆ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา อย่าต่อต้าน เพราะช่วยป้องกันการระบาดในพื้นที่ และมีระบบการบริหารจัดการควบคุมการออกนอกห้อง มีกล้องวงจรปิดดูแลป้องกันการแพร่ระบาด สิ่งแวดล้อม ขยะติดเชื้อ จึงมั่นใจได้ว่าคนโดยรอบไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน” นพ.เอนก กล่าว
นพ.เอนก กล่าวว่า สำหรับกลุ่มต่อไปที่ดำเนินการ คือ ชุมชนแออัด เพราะการรักษาระยะห่างทำได้ยาก คนอยู่จำนวนมากๆ ก็จะนำร่องในเขตคลองเตย ซึ่งกำลังดำเนินการต่อไป โดยจะต้องดูว่ารูปแบบการระบาดในพื้นที่เป็นแบบไหน ความแออัดเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อเจอเคสก็จะนำมารักษา และติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการเพิ่มในพื้นที่ทองหล่อ ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของสถานบันเทิงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การค้นหาเชิงรุกจะดำเนินการเฉพาะจุดเสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ไม่ได้ดำเนินการปูพรมตรวจทุกคน เพราะจากข้อมูลก็จะพบว่าตรวจเกือบ 2 พันราย ยังเจอเพียง 1 ราย
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด มีผู้เข้าพักจำนวน 10 แห่ง ใน กทม. และ 4 แห่งที่ต่างจังหวัด คือ ชลบุรี และนครปฐม จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกกักกันเข้าพักสังเกตอาการสะสม 1,478 คน พบการติดเชื้อ 9 ราย ส่วนสถานที่กักตัวระดับพื้นที่ (Local Quarantine) มีจำนวน 1,192 แห่งกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ถูกกักกันรวม 3,506 ราย พบการติดเชื้อ 62 ราย