สธ.เผย 3 วิธีตรวจหาผู้ป่วยโควิดเพิ่มเติม หลังเจอผู้ป่วยยืนยัน คือ ติดตามสัมผัสผู้ใกล้ชิด ค้นหาเชิงรุก และค้นหาในชุมชน ด้วยการตรวจภูมิคุ้มกัน เผย กทม.เริ่มตรวจหาคนติดเชื้อไม่แสดงอาการใน 2 พื้นที่ “บางเขน-คลองเตย” หากเจอน้อยกว่า 1% ถือไทยติดเชื้อน้อย หากประเมินคุ้มค่าจะขยายต่อ
วันนี้ (16 เม.ย.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วิธีการทางระบาดวิทยาในการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม กรณีพบผู้ป่วยยืนยันอย่างน้อย 1 รายขึ้นไปนั้น ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ 1. การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close contact tracing) 2. การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) และ 3. การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน โดยจากกรณีศึกษาจากภูเก็ตที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยและเข้ามารับการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR พบอัตราการเป็นผลบวก 4.5% แต่หากเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะขึ้นมา 6.24% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามาก ดังนั้น คนที่มีความเสี่ยงต่ำ โอกาสพบผลบวกยิ่งน้อยลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทำงานได้ดีขึ้น ทั้งบุคลากรสาธารณสุข ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ร่วมมือหยุดเชื้อ มีส่วนช่วยให้ตัวเลขลดลงได้ แต่เมื่อมีตัวเลขลดลง ก็ยิ่งต้องมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยที่เข้มข้นมากขึ้น
“ภูเก็ตเป็นกรณีศึกษาที่ทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) เพิ่มเติมจากการหาผู้สัมผัสใกล้ชิด ต่อไปเมื่อเรามีการตรวจหาห้องปฏิบัติที่ดีมากขึ้น การค้นหาผู้ที่ยังไม่มีอาการในชุมชน ก็จะเป็นมาตรการที่เข้มข้นต่อไป ยิ่งเมื่อเรามีตัวเลขผู้ป่วยน้อยลง การทำงานเราจะลดลงไม่ได้ พี่น้องประชาชนก็เช่นกันต้องปฏิบัติล้างมือ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่าการ์ดตก” นพ.อนุพงศ์ กล่าว
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า การตรวจทั้ง 3 วิธีนั้น เมื่อมีผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 จะทำ Contact Tracing โดยทีมสอบสวนโรค เมื่อตามแล้วก็จะได้จำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่อีกจำนวนหนึ่งที่อาจอยู่ในชุมชน อาจสัมผัสแต่ไม่ใกล้ชิด และคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ ซึ่งกรณีการระบาดที่อาจควบคุมได้ไม่หมด นอกจากการทำ Active Case Finding แล้ว ก็อาจต้องทำการค้นหาในชุมชน เพราะตามแผนการรักษาได้กำหนดให้คนที่อาการไม่รุนแรง ต้องอยู่ รพ. 14 วัน จากนั้นต้องดูแลตัวเองจนครบ 30 วันนับตั้งแต่มีอาการ เพราะฉะนั้น อย่างที่บอกว่าการติดเชื้อในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 8% พุ่งขึ้นสูงถึง 23% ใน เม.ย. จึงต้องเน้นย้ำว่า ใครก็ตามที่อยู่ในบ้านและออกไปนอกบ้าน แต่ไม่ระมัดระวัง ก็สมควรต้องแยกตัวเอง 14 วันที่บ้าน เพื่อไม่นำเชื้อมาติดคนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งง่ายต่อการป่วยและเสียชีวิต
นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ส่วนการค้นหาในชุมชน เป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดีของคน โดยใช้ชุดตรวจที่เป็นการเจาะเลือดปลายนิ้ว (Rapid Test) เพื่อต้องการค้นหาคนที่มีภูมิต้านทานโรคนี้แล้ว ซึ่งแสดงว่าเป็นคนที่เคยติดเชื้อและไม่แสดงอาการ เบื้องต้นนำร่องในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่ 2 เขต ได้แก่ เขตบางเขน ที่เป็นพื้นที่ตั้งของสถานที่เสี่ยงที่พบผู้ป่วย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และเขตคลองเตย ที่เป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดที่มีความหนาแน่นของประชากร และเป็นการเลือกตรวจในประชากรที่ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาระบุว่า เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยอาจจะไม่ใช่คนที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน เช่น กำหนดเป็นกลุ่มอายุ วัยหนุ่มสาว เด็ก และผู้สูงอายุ เป็นการกระจายกลุ่มตัวอย่าง
“ผลที่ได้จากการค้นหาในชุมชนโดยการตรวจหาภูมิต้านทานนั้น จะทำให้ทราบว่าในพื้นที่ที่กำหนดเป้าหมายลงไป มีคนติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการซึ่งมีภูมิต้านทานแล้วมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีน้อยมากๆ เช่น ไม่ถึง 1% แสดงว่า คนไทยยังมีการติดเชื้อน้อย และส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานเกี่ยวกับโรคนี้ ก็จะต้องมีการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังที่เหมาะสมต่อไปด้วย และหลังจากนำร่องใน 2 เขตนี้แล้ว หากพบว่าเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้และมีความคุ้มค่าก็จะขยายผลดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายที่ระบาดวิทยากำหนดต่อไป” นพ.อนุพงศ์ กล่าว