กรมควบคุมโรค ชี้ มาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จะใช้ข้อมูลระบาดวิทยากำหนด ว่า ควรตรวจกลุ่มเสี่ยงใดในพื้นที่เสี่ยงใด แล้วระดมตรวจในกลุ่มนั้นนั้นพื้นที่นั้น ส่วนการตรวจเพื่อเฝ้าระวังต้องวางแผนออกแบบการเก็บข้อมูล เพื่อให้รู้ผลได้ว่าโรคกระจายมากหรือน้อย
วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการค้นหาผู้ป่วยโควิดเชิงรุก (Active Case Finding) ที่จะมีการดำเนินการใน กทม. ว่า เมื่อเจอผู้ป่วยสิ่งที่เราทำควบคู่สอบสวนโรค คือ การทำ Active Case Finding ในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทันทีเดี๋ยวนั้น หลักคิดเรื่องนี้ คือ ใครก็ตามที่มีโอกาสติดเชื้อสูงจะระดมตรวจในกลุ่มนั้น อย่างกรณี จ.ภูเก็ต ในบางพื้นที่หรือบางอาชีพ บางตำบล ที่มีผู้ติดเชื้อเยอะก็จะระดมตรวจในคนอาชีพนั้น ในพื้นที่นั้นที่ยังไม่ตรวจทั้งหมด ซึ่งการระดมตรวจนี้จะใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ชี้เป้าว่า ควรตรวจประชากรกลุ่มไหนเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลก็จะได้มาจากการสอบสวนโรคและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อชี้เป้า
เมื่อถามถึงกรณี กทม.ร่วมหมอแล็บแพนด้า นำรถตู้เคลื่อนที่ตระเวนเก็บสารคัดหลั่งไปตรวจโควิดเชิงรุกในพื้นที่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินงานของ กทม. อย่างไรก็ตาม การตรวจเชิงรุกมี 2 วัตถุประสงค์ คือ 1. การควบคุมโรค คือ หาหย่อมว่าประชากรกลุ่มไหนติดเชื้อมาก ก็ลงไปตรวจกลุ่มนั้นเพื่อดูว่าใครติดเชื้อบ้าง ก็จะควบคุมได้โดยเร็ว และ 2. การตรวจเพื่อเฝ้าระวัง ก็ต้องใช้ข้อมูลผู้ป่วยมากำหนดและออกแบบการตรวจต้องออกแบบที่เป็นระบบ ว่าจะเก็บข้อมูลในประชากรกลุ่มไหนบ้าง เช่น ดำเนินการเฝ้าระวังคนไข้ที่อาการคล้ายหวัด ก็จะเก็บเฉพาะกลุ่มนี้ให้ครบ สมมติเก็บ 50 ราย เพื่อรับทราบว่าโรคแพร่กระจายมากน้อยแค่ไหน เพิ่มหรือลดลง เป็นการเก็บเพื่อเฝ้าระวัง การเก็บแบบไม่มียุทธศาสตร์จะได้ข้อมูลที่เข้ามาแปลผลลำบาก ในขณะที่เรามีกำลังการตรวจเพิ่มขึ้น เราเน้นยุทธศาสตร์ที่ 1 และกำลังวางแผนยุทธศาสตร์ที่ 2 ซึ่งหลายฝ่ายยินดีที่จะสนับสนุนการทำงาน อย่างองค์การอนามัยโลก ก็อยากมีส่วนร่วมเข้ามาออกแบบ
เมื่อถามถึงความพร้อมของบุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะภาคใต้ที่มีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรามีการประชุมและให้ทุก รพ.เตรียมแผน หากบุคลากรเจ็บป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานได้ 30-50% รพ.จะปรับตัวอย่างไร การขาดกำลังชั่วคราวอยู่ในแผนของสาธารณสุขอยู่แล้ว อย่างภูเก็ตที่มีการกักตัวบุคลากรไป 100 กว่าคน ก็ดำเนินการตามแผน โดยขอความช่วยเหลือจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน บางจังหวัดไม่มีผู้ป่วย บางจังหวัดมีผู้ป่วยน้อย ก็สามารถขอความช่วยเหลือพื้นที่ใกล้เคียงได้ไม่ยาก