สธ.ยันเคสหญิงชัยภูมิไม่ได้ป่วย "โควิด" ซ้ำสอง คาดป่วยด้วยการติดเชื้ออื่น ส่วนที่ยังตรวจพบเจอเชื้อ อาจเป็นซากไวรัสที่ยังอยู่ในร่างกาย ชี้ซากเชื้อไวรัสไม่แพร่กระจายต่อแล้ว
วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยหญิงที่ จ.ชัยภูมิมีการติดเชื้อโควิด-19 ติดต่อกัน 2 ครั้ง ว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ ทั่วโลกมีรายงานการป่วยซ้ำหรือไม่ ก็เคยมีที่จีนและญี่ปุ่นประเทศละ 1 กรณี ส่วนเคสชัยภูมินี้จากการตรวจสอบประวัติพบว่า เริ่มป่วยครั้งแรกรักษาที่รพ.เอกชนใน กทม. พบติดเชื้อโควิด-19 จริง แต่มาด้วยอาการไม่มาก คือมีอาการเหมือนไข้หวัด รักาาที่ รพ.เอกชนแห่งนั้นจนครบ 14 วัน จึงให้กลับบ้านที่ชัยภูมิ และแนะนำให้แยกตัวที่บ้าน ซึ่งคนไข้ปฏิบัติได้ดีมาก มีการแยกตัวอยู่ในบ้าน โทรศัพท์ให้คนมาส่งอาหารหน้าบ้าน แต่ช่วงวันที่ 3-4 เม.ย. รู้สึกไม่สบายเล็กน้อย ครั่นเรื้อครั่นตัว มีน้ำมูกนิดหน่อย รู้สึกเหมือนมีไข้เล็กน้อย จึงไป รพ.หนองบัวแดง จ.ชับภูมิ เมื่อรพ.เห็นประวัติจึงทำการตรวจเชื้อซ้ำ ก็พบเชื้อ แต่ไม่มีไข้ ผลเอกซเรย์ปอดปกติ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้น ถามว่าคนไข้รายนี้รักษาไม่หายหรือไม่ ถ้าดูจากที่ออกจาก รพ.ครั้งแรกไม่น่าเป็นไปได้ เพราะอาการปกติ ไม่มีไข้ สบายดี สามารถขับรถกลับจาก กทม.มาชัยภูมิได้ จึงไม่น่า ส่วนถามว่าติดเชื้อซ้ำหรือไม่ อาจเป็นไปได้ แต่ดูประวัติไม่น่าจะใช่ข้อนี้ เพราะคนไข้บอก ว่ารู้สึกเหนื่อยมา รพ. แต่อัตราหายใจ 20 ครั้งต่อนาทีคือปกติ ไม่มีไข้เลย มีน้ำมูกนิดหน่อย ตรวจดูเรื่องของแล็บอย่างอื่นก็ปกติทั้งหมด ยกเว้นเจอเชื้อโควิด และเม็ดเลือดขาวมีขึ้นมาบ้าง จึงวิเคราะห์ว่า รายนี้น่าจะไม่ได้เป็นการติดเชื้อซ้ำ การป่วยครั้งใหม่น่าจะเป็นการป่วยอย่างอื่นมากกว่า
"ส่วนเชื้อโควิดที่เจอคืออะไร เราสันนิษฐานว่าเป็นซากเชื้อไวรัสที่ตรวจเจอ ซึ่งยังตรวจเจอได้อยู่ มีข้อมูลต่างประเทศตรวจเจอได้นานถึง 30 วัน แต่ซากเชื้อที่ตายแล้วจะไม่แพร่เชื้อต่อได้ ซึ่งเคยมีคนไปเพาะเชื้อก็พบว่า เชื้อไม่ขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ มีแนวทางว่าถ้าคนอาการไม่มาก เมื่อคนไข้ดีขึ้นแล้วบอกให้อยู่ รพ. 7 วัน แล้วกลับบ้านได้โดยไม่ต้องตรวจเชื้อซ้ำ แต่ยังต้องแยกตัว แต่ไทยเราใช้ 14 วัน และขอให้แยกตัวที่บ้านจนครบ 1 เดือน ผู้ป่วยรายนี้ไม่น่าใช่การติดเชื้อครั้งใหม่ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงให้คนไข้นอนในวอร์ดโควิด -19 แยกตัวชัดเจน หมอใส่เครื่องป้องกันตัว" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 1 เดือน และการดูแลป้องกันการติดเชื้อในเด็กอายุน้อยในบ้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คำแนะนำการดูแลผู้ป่วยเด็กไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ แบ่งเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการ มีอาการน้อย ไม่มีโรคแทรกซ่อน มีอาการน้อยแต่มีโรคแทรกซ้อน และปอดบวม ส่วนเด็กรายนี้รักษาอยู่ที่สถานบันบำราศนราดูร เท่าที่ทราบจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เด็กก็สบายดี แต่จะพยายามมีระยะห่างระหว่างแม่ลูก เข้าใกล้ต่างก็ใส่แมสก์ และล้างมือแม่ช่วงให้นม
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เด็กอายุน้อยเราไม่ค่อยกังวลเท่าไร เพราะส่วนใหญ่อาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กมากๆ เรายังไม่มีผู้ป่วยมากนัก หลายฝ่ายทั่วโลกกำลังดูเด็กเล็กมากๆ ว่ามีโอกาสโรครุนแรงแค่ไหน สิ่งที่แนะนำพ่อแม่ เพราะเป็นคนที่ออกไปทำงานขางนอก และนำเชื้อมาติดเด็ก เมื่อกลับมาบ้าน ก่อนจะอุ้มเด็ก แนะนำให้ล้างมือก่อน ทำให้เป็นนิสัย อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เอาผ้าเก่าไปซัก ทำตัวเองให้สะอาดก่อนถึงใช้ชีวิตในบ้านกับเด็กเล็กจะช่วยได้มาก ถ้าตัวเองมีอาการผิดปตกิ ควรแยกตัวเองไม่ควรไปจับเด็กเลย ช่วยลดการแพร่เชื้อในบ้านค่อนข้างดี