สธ.เผยบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระหว่างดูแลผู้ป่วย เหตุระยะแรกไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ส่งผลยอดป่วยรวม 34 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 1 ราย เป็น 14 ราย จ่อให้แอนติบอดีผู้ป่วยหนัก 2 รายเป็นครั้งที่ 2 พร้อมนเข้ายาต้านไวรัสรักษาอิโบลามาใช้ร่วม เล็งชงงบหนุนบุคลากรทำงานสู้ไวรัสเป็นขวัญกำลังใจ ส่วนผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมมาต่อเครื่องที่ไทย 9 คน ไม่มีไข้ และออกจากไทยไปแล้ว
วันนี้ (15 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์เพศหญิง อายุ 35 ปี ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายที่ 27 ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีการเฝ้าระวังติดตามมาตั้งแต่ต้น เมื่อมีอาการไข้และระบบทางเดินหายใจ จึงรับไว้ในห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร และตรวจหาเชื้อ ซึ่งพบว่าออกมาเป็นบวก จากการสอบสวนโรคพบว่า ตอนแรกผู้ป่วยที่ดูแลรักษามีอาการไม่รุนแรง ขณะที่ปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย จึงเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อ และจากการติดตามพบว่า บุคลากรการแพทย์รายนี้อาศัยอยู่ตามลำพัง ทำให้ไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ได้มีการติดตามบุคลากรการแพทย์อื่นๆ ที่ดูแลผู้ป่วยรายที่ 27 นี้ อีก 24 คน ซึ่งผลการตรวจออกมาเป็นลบ แต่ให้เฝ้าระวัง 14 วันตามมาตรการ ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสมทั้งหมด 34 ราย รักษาหายเพิ่มเติม 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 56 ปี ทำให้มีผู้ป่วยรักษาหายรวมเป็น 14 ราย เหลือรักษาตัวใน รพ. 20 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากรายงานต่างประเทศ พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว 1,716 คน. คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันที่ประเทศจีน มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 6 คน คิดเป็นร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ยังดีอยู่ แต่ก็เป็นการแสดงเตือนให้เห็นว่า อย่าได้ประมาท กลไกการเฝ้าระวังโรคต้องเข้มแข็ง บุคลากรต้องสวมเครื่องป้องกัน สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร คือ รายที่ป่วยวัณโรคร่วม และรายที่มีอาการรุนแรงอายุ 33 ปี โดยรายหลังได้ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจหรือเครื่องเอคโม ซึ่งอาการยังทรงตัวอัตราแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้งสองรายจะรับการรักษาเพิ่มเติมด้วยการรับน้ำเหลืองหรือแอนติบอดีจากคนขับรถแท็กซี่ที่หายป่วยเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 และจะเตรียมนำยาต้านไวรัสจากต่างประเทศ มาใช้ร่วมรักษา ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่รักษาโรคอิโบลา ซึ่งยาดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 17 ก.พ. ปลัด สธ.จะประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อหารือถึงมาตรการกลไกการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงพยาบาล เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและป้องกัน ขณะเดียวกันเตรียมหารือเรื่องของการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนด้านขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรที่ปฎิบัติหน้าที่ด้วย สิ่งที่จะตอบแทนได้คือค่าเสี่ยงภัย โดยจะของบกลางมาดำเนินการ คาดว่าจะชัดเจนเรื่องตัวเลขและเสนอผู้บริหารได้ในสัปดาห์หน้า
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะทำในกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ จนถึงการระบาดเฟสที่ 2 คือในกลุ่มทำงานที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวหรือที่มีการติดต่อประสานงานกันกับกลุ่มนักเดินทาง จากนี้จะกลับมาเน้นเรื่องการเฝ้าระวังและป้องกันในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ถือเป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงเช่นกัน
นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับกรณีเรือเวสเตอร์ดัมที่เทียบท่าสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ขณะนี้มีผู้โดยสารเรือดังกล่าวเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงพนมเปญเข้ามาประเทศไทย เพื่อต่อเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 9 คน เป็นต่างชาติ 8 คน และคนไทย 1 คน โดยทุกคนไม่มีไข้ โดยต่างชาติทั้ง 8 คนเดินทางออกจากไทยไปแล้ว ส่วนคนไทยจะเฝ้าระวังตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค นอกจากนี้ยังได้รับรายงานว่ามีคนไทย 2 คนแจ้งขอกลับเข้าประเทศเร็วๆ นี้