xs
xsm
sm
md
lg

แนะ 6 วิธีจัดการอารมณ์ช่วงกักตัวอยู่บ้านอย่างสร้างสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งเรื่องงาน ชีวิตส่วนตัว รวมถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจ ถูกแปรเปลี่ยนอย่างกะทันหันจนยากที่จะปรับตัว หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในขณะที่บางคนยังต้องออกไปทำงานข้างนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนกิจกรรมสำหรับการผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน และกิจกรรมการเข้าสังคมอื่นๆ ก็ต้องหยุดชะงัก เพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ (Social Distancing) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลกับภาวะทางอารมณ์และจิตใจมากมาย จนอาจเรียกได้ว่าปัญหาทางด้านจิตใจ คือ มหันตภัยระลอกที่ 2 ของการแพร่ระบาดนี้

อีกหนึ่งอันตรายที่ตามมาจากความเครียดและการกักตัวอยู่บ้านไม่ได้พบเจอผู้คน คือ การดื่มอย่างเป็นอันตราย ซึ่งในหลายประเทศพบว่าเกิดความเสี่ยงที่ประชาชนจะดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เพื่อรับมือกับความเครียด โดยในประเทศออสเตรเลียพบว่ามีการกักตุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และประชาชนมีพฤติกรรมดื่มหนักขึ้น ในขณะที่แนวโน้มลักษณะเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดพ่วงตามมาด้วย เช่น ความรุนแรงภายในครอบครัว ด้านประเทศไทย ได้มีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคระมัดระวังการดื่ม เพื่อให้สามารถครองสติสัมปชัญญะ ไม่นำไปสู่การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในช่วงไวรัสระบาด

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อร่างกาย และรู้เท่าทันแอลกอฮอล์ สนับสนุนให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อ ได้แก่ การลดการปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้คนในสังคม การงดการชุมนุม การลดการเดินทางออกจากที่พักอาศัยโดยไม่มีเหตุจำเป็น และการทำงานที่บ้าน พร้อมเสนอวิธีจัดการกับอารมณ์และสุขภาพจิตที่ไม่ดี ความเครียด รวมถึงคำแนะนำในการหลีกเลี่ยงการดื่มแบบผิดๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันแย่ลง

1. แบ่งพื้นที่การทำงานสำหรับการ Work From Home และพื้นที่พักผ่อนให้เป็นสัดส่วน
การทำงานที่บ้านอาจเป็นบ่อเกิดของความเครียดได้ เพราะ “งาน” ได้ก้าวล้ำเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของคุณ พื้นที่แห่งการพักผ่อนอย่างห้องนอนห้องนั่งเล่นของใครหลายๆ คน ถูกเปลี่ยนเป็นออฟฟิศเฉพาะกิจ ตื่นเช้ามาก็เจอคอมพิวเตอร์และงานรออยู่ที่ปลายเตียง อาจสร้างความวิตกกังวลเพราะงานตามเรามาได้ทุกเมื่อ โดยแผนกแพทยศาสตร์การนอนหลับ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า การจัดพื้นที่ห้องนอนให้ปราศจากงานและคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้สมองจดจำความเชื่อมโยงระหว่างห้องนอนและการพักผ่อนได้ดีขึ้น จึงแนะนำให้จัดพื้นที่ทำงานแยกจากพื้นที่พักผ่อนให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้งานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคุณจนเกินพอดี และอย่าลืมสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการทำงาน มีแสงแดด และอากาศถ่ายเทเพียงพอ

2. อยู่บ้านทำงานยืดหยุ่นก็ดีอยู่หรอก แต่ต้องรักษากิจวัตรประจำวันไว้ด้วย
ในลักษณะเดียวกันกับการจัดสรรพื้นที่การทำงานและการพักผ่อนให้ชัดเจน การจัดสรรเวลาก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษากิจวัตรประจำวันของคุณให้เป็นไปตามปกติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอนเวลาเดิม พักรับประทานอาหารกลางวันเวลาเดิม และเลิกงานเวลาเดิม การรักษากิจวัตรเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกสามารถควบคุมชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการกักตัวอยู่บ้านได้ดีขึ้น นอกจากนี้ บทความจากเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสสิเนสรีวิวยังระบุอีกว่ามีงานวิจัยที่พบว่าการทำงาน 52 นาที พัก 17 นาที คือระยะเวลาที่สมดุล สามารถเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ดีที่สุดอีกด้วย

3. ค้นหางานอดิเรกใหม่ๆ ให้ชีวิตไม่เฉาจนเกินไป
เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงกักตัวอยู่บ้าน คือ การที่ผู้คนเริ่มมองหากิจกรรมที่สามารถทำเพียงลำพังที่บ้านได้ด้วยตนเองมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจและเบื่อหน่าย จากการที่จะต้องถูกกักตัวอยู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำอาหาร อบขนม เขียนหนังสือ สร้างสรรค์งานศิลปะและงานประดิษฐ์ ในทางกลับกันการอยู่บ้านอาจกลายเป็นโอกาสที่ดีในการค้นพบงานอดิเรกและทักษะใหม่ๆ ของคุณที่จะติดตัวไปในอนาคต ทั้งยังทำให้สนุก ผ่อนคลาย และเพลิดเพลินไปกับการอยู่บ้านอีกด้วย

4. เข้าคอร์สออนไลน์เพิ่มพูนทักษะความสามารถ เรากับคุณครูผู้สอนใกล้กันนิดเดียว
เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงระบบการศึกษาทางไกลได้ง่ายยิ่งขึ้น ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้เพิ่มช่องทางโดยเปิดให้สาธารณะสามารถดาวน์โหลดและเรียนรู้ทักษะต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรี เช่น คอร์สเสริมทักษะทางอาชีพของกระทรวงแรงงาน คอร์สออนไลน์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกมากมายที่มีให้เลือกเรียนรู้และเดินหน้าพัฒนาตนเองต่อไปได้แม้ในขณะที่คุณต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่บ้าน

5. อย่าทนเหงา วิดีโอคอลกับเพื่อนและครอบครัว เข้าสังคมผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์บ้างก็ได้
อีกหนึ่งข้อดีของยุคเทคโนโลยีก้าวไกล คือ การขยายคำจำกัดความของ “การเข้าสังคม” ที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น เราสามารถพูดคุย ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ และเห็นหน้าเพื่อนๆ ได้ผ่านทางวิดีโอคอลและแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้การสังสรรค์ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพื้นที่ทางกายภาพอีกต่อไป ซึ่งเหมาะสมกับการทำ Social Distancing ในช่วงนี้ นอกจากนี้ การรับคำท้าหรือคำชักชวนต่างๆ ที่เรียกพวกเราออกมาโชว์สเต็ปแดนซ์ แชร์ความทรงจำเก่าๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราคงยังสามารถ “คอนเนคต์” กับสังคมได้แม้ไม่ได้เจอหน้ากันจริงๆ

6. ตามใจตัวเองด้วยอาหารที่ชอบและเครื่องดื่มที่ใช่ แต่อย่าลืมบริโภคอย่างมีสติและรับผิดชอบ
เป็นที่รู้กันดีว่าวิธีคลายเครียดที่ดีมากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การรับประทานของอร่อย แม้ว่าช่วงกักตัวจะทำให้ใครหลายๆ คนไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและสังสรรค์ได้ตามปกติ แต่ยังมีบริการส่งอาหารที่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยให้เราถึงบ้าน การให้รางวัลกับตัวเองตามสมควรด้วยของอร่อย หรือมี Happy Friday อย่างเคยก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องรู้เท่าทันการบริโภคไม่ให้มากเกินพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางคนอาจเผลอดื่มเกินขนาดจนขาดสติ เพราะมองว่าไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการเดินทางกลับบ้าน จึงควรเช็กปริมาณที่ดื่มอยู่เรื่อยๆ ไม่ดื่มตอนท้องว่าง และอย่าลืมดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อไม่ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่สะสมอยู่ในร่างกายสูงเกินพอดี โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนไม่ควรลืม คือ ไม่ว่าจะดื่มที่ไหน หรือดื่มอย่างไร แอลกอฮอล์ก็คือแอลกอฮอล์ และการดื่มที่มากเกินไปย่อมส่งผลให้เกิดอันตรายทั้งในระยะสั้นและยาว นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังได้ออกมาเตือนว่าการใช้แอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือจัดการความเครียดและความวิตกกังวล ไม่ใช่วิธีการรับมือที่ดีในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) ขอสนับสนุนให้ทุกคนอยู่บ้าน โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการชุมนุมในสถานที่สาธารณะโดยไม่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อในช่วงวิกฤติโรคระบาด และขอย้ำเตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังการดื่มอย่างเป็นอันตรายในช่วงนี้ มองหาวิธีการดูแลสภาพจิตใจและผ่อนคลายรูปแบบอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ควบคู่กัน เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมในการดูแลตัวเอง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายอาจทำให้ขาดสติจนไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำในการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ ทั้งยังอาจสร้างภาระให้กับครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าสำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น