สธ.เผย 5 เงื่อนไขผ่อนปรนล็อกดาวน์ “โควิด-19” เปิดกิจการตามความเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ ชี้ผับบาร์ สถานบันเทิง คาราโอเกะ บ่อน เสี่ยงสูงแพร่เชื้อยังต้องปิดยาว ส่วนร้านตัดผม ห้าง ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ทยอยเปิดได้ แต่ต้องลดความเสี่ยง แบ่ง 3 กลุ่มจังหวัด ระบุ 32 จังหวัดไม่มีป่วยใหม่ 14 วัน ผ่อนตั้งแต่ต้น พ.ค. กลุ่มป่วยประปราย 38 จังหวัดผ่อนได้กลาง พ.ค. และกลุ่มติดเชื้อต่อเนื่องอาจเปิดได้ต้น มิ.ย.
วันนี้ (20 เม.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีทีมที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากการหารือเห็นตรงกันว่า เราควรจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตโควิดในปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนผ่านจะไม่กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม โดยจะมีเงื่อนไขต่างๆ สำคัญ โดยอยู่ระหว่าง รมว.สธ.เซ็นหนังสือกรอบความคิดนี้เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และหารือภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำเป็นมาตรการระดับประเทศต่อไป คือ 1. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานสาธารณสุขทุกภาคส่วน ต้องมีความเข้มข้นในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองคนที่เข้าประเทศ จำเป็นต้องมีการกักผู้เดินทางมาจากต่างประเทศตามมาตรฐาน 14 วัน เพราะยังมีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา ทุกจังหวัดต้องมีระบบค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง อยู่กันแออัด เช่น ในชุมชน แรงงานต่างชาติ หรือที่มีความเสี่ยงต่างๆ มาตรการสาธารณสุขจะเป็นพื้นฐาน จะไม่ยอมให้มาตรการด้านนี้หย่อนลง แต่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น การตรวจแล็บในทุกจังหวัด
2. เรื่องของคนไทยทุกคน ทุกสังคม ทุกองค์กร ที่จะต้องสร้างข้อตกลงกันว่า เราทุกคนจะปฏิบัติในเรื่องของสุขลักษณะที่ถูกต้อง ได้แก่ ออกที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย การอยู่ห่าง เพราะฉะนั้น การใช้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิม เช่น ไปสุมหัวกัน 10 กว่าคน จะต้องงดการชุมนุมต่างๆ เพราะถ้าเราไม่ช่วยกันจะกลับไปสู่การพบผู้ป่วยมากๆ ทั้งที่ควบคุมได้ดีแล้ว
3. ภาคธุรกิจ ขณะนี้มีคนตกงาน 7-10 ล้านคน ภาคธุรกิจต้องปรึกษาหารือกัน ซึ่งขณะนี้หอการค้า สภาอุตสาหกรรม มีการหารือกันว่า กิจการใดเป็นกิจการเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ และพยายามปรับธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงให้ลดความเสี่ยงลงน้อยที่สุด
4. กิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูงมากจะต้องปิดยาว อย่างที่พิสูจน์ทราบการแพร่เชื้อโควิด ได้แก่ สถานบันเทิง ผับบาร์ คลับ คาราโอเกะ ไนต์คลับ สถานประกอบการที่มีกิจการทางเพศทั้งทางตรงทางแฝง สนามพนันบ่อน ต้องร่วมมือกันขอให้ปิดระยะยาว อนาคตถ้าจะปิดกิจการอะไรบางอย่างจะไม่ทำแบบครอบจักรวาล แต่จะทำเฉพาะจุดที่เป็นต้นกำเนิดของปัญหา ถ้าทำแบบนี้ได้ กิจการส่วนใหญ่ก็จะเดินหน้าได้
5. เฝ้าระวังอย่างเรียลไทม์ ทันเหตุการณ์ ในระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ เพื่อรู้ว่าสถานการณ์แต่ละจุดเป็นอย่างไร ถ้าปกติก็เดินหน้าไป ถ้าเริ่มไม่ค่อยดีจะมีการเตือนและชะลอ จังหวะไหนมีอันตรายก็จะหยุด หรืออาจถอยกลับมาให้ทุกคนระวังตัวอยู่กับบ้าน ขึ้นกับพื้นที่และจังหวัด ถ้าทำทั้ง 5 ส่วนนี้ได้ก็จะมั่นใจว่าเราจะค่อยเดินไปข้างหน้า
นพ.คำนวณกล่าวว่า มาตรการต่างๆ จะไม่เดินพร้อมกันหมด 77 จังหวัด จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของ สธ.ที่มีการจัดกลุ่มจังหวัด คือ กลุ่ม 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 2 สัปดาห์ ถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. แต่อาจจะมีการทดลอง 3-4 จังหวัดช่วงปลายเดือน เม.ย.ก่อน ขึ้นกับความพร้อม จากนั้น 2 สัปดาห์ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยดี ก็จะเป็นกลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปราย คือกลาง พ.ค. เพราะถึงเวลานั้นจังหวัดเหล่านี้คงมีผู้ป่วยน้อย และจะเป็นกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเป็น 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ต้น มิ.ย.
“หากทำแบบนี้ก็เปลี่ยนผ่านแบบระมัดระวัง ไม่ฉับไว ไม่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกที่ 2-3 แบบต่างประเทศ ทำแบบนี้ได้จะเกิดสมดุลเรื่องความปลอดภัย การใช้ชีวิตที่จำเป็น ธุรกิจก็เดินหน้าได้ แต่เราไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมทุกอย่าง ต่อไปเวลาไปตัดผม ไม่ได้นั่งรอกัน อาจโทรศัพท์นัดมา เพราะไม่อยากให้มาต่อกัน หรือไปกินข้าว ก็อาจต้องนั่งแค่จำนวนน้อย และห่างกัน ภาคธุรกิจกำลังดำเนินการ ซึ่งทาง สธ. คณะแพทย์ก็เห็นตรงกันว่าน่าจะเดินทางไปในทางนี้” นพ.คำนวณกล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางการพิจารณากิจการเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ นพ.คำนวณกล่าวว่า จะพิจารณาจาก 1. ความหนาแน่นของผู้คนไปใช้บริการ ยิ่งหนาแน่นมากก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก ซึ่งภาคธุรกิจจะกำหนดว่า พื้นที่ขนาดนี้ได้กี่คน และกำหนดเงื่อนไขไม่ปล่อยให้มาออกัน 2. กิจกรรมที่ผู้คนไปใช้สถานที่เหล่านั้น หากต่างคนเข้าไปแล้วไม่ร้องเชียร์ ตะโกน พูดจากันมาก ความเสี่ยงก็จะน้อยลง เพราะเชื้ออยู่ในน้ำลาย ตามน้ำมูก 3. เรื่องของการถ่ายเทอากาศ ถ้าเราเข้าไปอยู่ในห้องเล็กๆ อากาศไม่ถ่ายเทก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น และที่เกี่ยวข้องคือสามารถทำระยะห่างได้หรือไม่ ทางธุรกิจจะไปคำนวณดู แบ่งเป็นเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ อะไรเสี่ยงสูงก็จะไม่ดำเนินการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อย่างสถานบันเทิงเสี่ยงสูง เปิดไม่ได้ในช่วงนี้ แต่ที่ทยอยได้ เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร หรือสวนสาธารณะที่ความเสี่ยงต่ำ ก็ไปเดินออกกำลังกายได้ แต่ไม่ใช่ไปจับกลุ่มกัน
เมื่อถามถึงห้างสรรพสินค้า นพ.คำนวณกล่าวว่า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ มีความเสี่ยงปานกลางสามารถจัดการได้ให้ความเสี่ยงลดลงมา อย่างเมื่อก่อนเข้าไปกันทีเยอะมาก ก็อาจต้องกำหนดเลยว่า 1 ชั่วโมง คนเข้าไปได้กี่คน จะได้มั่นใจว่ามีระยะห่าง และจะต้องไม่มีการจัดรายการนาทีทองชิงโชค เอาคนมารุมกัน ทำไม่ได้ ส่วนห้องน้ำ เป็นจุดเล็กๆ ต้องไม่มีการไปเข้าคิวรอแออัด ซึ่งภาคธุรกิจกำลังออกแบบ และหารือ สธ.ดูมาตรฐาน ถ้าผ่านก็ต้องเสนอไปให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ถ้าจังหวัดเห็นว่าสถานการณ์จังหวัดดี ข้อเสนอดี ทำได้จริงก็เริ่มผ่อนปรน
เมื่อถามถึงโรงเรียนต่างๆ นพ.คำนวณกล่าวว่า โรงเรียนก็ต้องคิดเรียนอย่างไรไม่ให้นักเรียนมาใกล้กัน ซึ่งถ้าเป็นห้องติดแอร์มีความเสี่ยง แต่ตามชนบทบ้านนอกเปิดโล่งความเสี่ยงไม่มาก โดยครูต้องจัดกิจกรรมที่ยังไม่ใช่มีการเข้าค่าย การมาเรียนต้องจัดที่นั่งห่างกัน แต่เรื่องโรงเรียนไม่สัมพันธ์กับการทยอยเปิด เนื่องจากโรงเรียนมีกรอบเวลาในการเปิดช่วง ก.ค.
เมือถามถึงการเปิดใน กทม.และนนทบุรี นพ.คำนวณกล่าวว่า ทั้ง 2 จังหวัดนี้เป้นกลุ่มสุดท้ายเลย และพิจารณาเป็นพื้นที่
นพ.คำนวณกล่าวว่า การใช้ชีวิตต่างๆ ต้องมีบรรทัดฐานใหม่ เช่น ออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ไปออฟฟิศมีการตรวจไข้ ให้ทำงานที่บ้านส่วนใหญ่ ไม่ต้องมาพบปะ ประชุมกันเยอะๆ ต้องเปลี่ยนค่านิยมสังคมไทย ที่มักชอบจัดงานใหญ่ๆ แต่งงาน เชิญแขกมาเป็นพัน ทำไม่ได้แล้ว ต้องเชิญเฉพาะญาติสนิทมิตรสหาย กลุ่มเล็กๆ หรือเมื่อก่อนจัดงานบุญบั้งไฟ มาเยอะๆ ก็ไม่ได้ ต้องเป็นงานเฉพาะชุมชน จิ๋วแต่มีความหมาย ไม่เน้นธุรกิจเอาเงินเข้ามา เน้นเรื่องจิตใจ ความสัมพันธ์กับผู้คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุม ภาคผนวกที่ 1 ระดับการระบาดของจังหวัด จะมีการอักเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือน เม.ย.อีกครั้ง เบื้องต้นข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. พบว่า กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี
กลุ่ม 2 พบผู้ป่วยในรอบ 14 วันแบบประปรายในวงจำกัดไม่เกิน 5 ราย ต่อสัปดาห์ สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี
และกลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องมากว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา