เริ่มมีหวัง!! ไทยเริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แล้ว สธ.เผย จุฬาฯ ทำการทดสอบวัคซีนในหนูแล้ว 2 ครั้ง อยู่ระหว่างส่งตรวจระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมากน้อยแค่ไหน ส่วน ม.มหิดล กำลังพัฒนาวัคซีนเชื้อตาย ระบุ ไทยเตรียมเอ็มโอยูกับจีน เข้าร่วมการทดสอบวัคซีน หากสำเร็จช่วยไทยเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น
วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 ประเทศไทย มีอยู่ 3 ทางเลือก คือ 1. ดำเนินการผลิตเอง โดยหาตัวเชื้อ ทดลองในสัตว์ ในคน ขณะนี้ไทยกำลังดำเนินงาน 2. ไปร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตในการวิจัย ถ้าวัคซีนสำเร็จก็มีโอกาสเร็วขึ้นในการใช้วัคซีน และ 3. ไม่ทำอะไรเลย รอซื้ออย่างเดียวตอนวัคซีนเสร็จแล้ว แต่จะเจอปัญหาว่า ประเทศผู้ผลิตจะให้คนในประเทศก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะซื้อได้เมื่อไร ดังนั้น ทางเลือกของไทยต้องดำเนินการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ต้องทำ ซึ่งทางเลือกในการผลิตวัคซีนเองมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ สธ. ก็ร่วมกันทำงาน ซึ่งตอนนี้เข้าใจว่า มีวัคซีนต้นแบบขึ้นมาแล้ว โดยทีมหนึ่งได้ทดลองในสัตว์ทดลองเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกันแล้ว ส่วนอีกอันอยู่ระหว่างพัฒนา
ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ จุฬาฯ ได้ทดสอบวัคซีนที่พัฒนาขึ้นในสัตว์ทดลองแล้ว 2 ครั้ง และได้เจาะเอาซีรัมของหนูทดลองออกมา ส่งให้สถาบันชีววัตถุตรวจดูระดับภูมิคุ้มกันว่าขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วน ม.มหิดล ได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการเพิ่มจำนวนไวรัสให้มีปริมาณมากพอที่ ม.มหิดล จะไปฆ่าเชื้อเพื่อนำไปพัฒนาเป็นวัคซีนเชื้อตาย แล้วจะนำมาทดลองในสัตว์ทดลองและให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อไป
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า กลไกของวัคซีนนั้น จะไปสร้างแอนติบอดี เพื่อเข้าไปจับกับตุ่มของไวรัส ทำให้ไวรัสเข้าเซลล์ไม่ได้ จนเสียสภาพและตายไป เพราะไม่สามารถเข้าเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนได้ โดยวัคซีนมีการพัฒนาได้ทั้งจากการทำให้เชื้อตาย ทำให้เชื้ออ่อนแรง การพัฒนาจากอาร์เอ็นเอ เป็นต้น แล้วนำทดสอบในสัตว์ทดลอง แล้วค่อยทำการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย 30-50 คน ระยะที่ 2 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 100-150 คน และระยะที่ 3 ให้ผลการป้องกันโรค คือ 500 คนขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ในไทยโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บ.ไบโอเนท-เอเชีย ได้เริ่มทำการทดลองวัคซีน mRNA ในสัตว์ทดลองแล้ว
นพ.นคร กล่าวว่า กลยุทธ์ด้านวัคซีนของไทย คือ การเอาวัคซีนศักยภาพสูงมาทดสอบในประเทศไทย และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาวัคซีนต้นแบบเอง ซึ่งที่เราต้องดำเนินการด้านวัคซีนนั้น เนื่องจากโรคจะไม่สงบจนกว่าประชากรจะมีภูมิคุ้มกันมากกว่า 60% ซึ่งกินเวลานานมาก ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาวัคซีนต้องเริ่มทันที เพราะใช้เวลานาน หากจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต้องมีบุคลากร โรงงานผลิตวัคซีน ซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในเวลาสั้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความก้าวหน้าของจีนที่มีการพัฒนาวัคซีนและทดสอบ ตอนนี้อยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งมีโอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมด้วย ซึ่งได้มีการหารือกับทางสถานทูตจีนเรื่องความร่วมมือการทำเอ็มโอยู หากทำเอ็มโอยูแล้วไทยก็จะได้เข้าร่วมทดสอบวิจัย