xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ฯ ยันพัฒนา “ห้องแล็บ” ไม่มีล็อกสเปกซื้อเครื่องมือตรวจโควิด ชี้ตั้งงบพันล. ขยายถึง รพ.สต.เป็นข่าวปลอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยันโครงการ 1 จังหวัด 1 แล็บ ไม่มีกำหนดซื้อเครื่องมือตรวจโควิดรวมและล็อกสเปก ไม่เคยตั้งงบพันล้าน หรือของบกลางมาใช้สักบาท แต่ละหน่วยงานดำเนินการเอง ลั่นจัดตั้งแล็บไปถึง รพ.สต.-เชื่อมโยงทุจริตนักการเมืองเป็นข่าวปลอม เหตุไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ และระบบชีวนิรภัยที่จะทำได้

วันนี้ (13 เม.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศษสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของโรคโควิด-19 ว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกัน ควบคุมโรค และวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีตรวจที่เป็นมาตรฐานตามองค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมจากคอ จมูก และทางเดินหายใจ ที่เรียกว่า RT-PCR ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับนโยบายให้ขยายขีดความสามารถห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ในทุกจังหวัดให้มีความพร้อมรองรับการตรวจอย่างน้อย 2 หมื่นตัวอย่างต่อวัน กรมวิทย์ฯ จึงดำเนินโครงการ 1 จังหวัด 1 แล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ โดยความร่วมมือของ สธ. มหาวิทยาลัย และเอกชน ขณะนี้สามารถเปิดห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน 93 แล็บ เหลืออีก 7 แล็บจะครบ ซึ่งความต้องการในภาคเอกชนค่อนข้างสูง คิดว่าเกิน 100 แล็บแน่ๆ มั่นใจได้ว่าการตรวจมาตรฐาน RT-PCR จะไม่ขาดแคลน

นพ.โอภาสกล่าวว่า ห้องแล็บทั้ง 93 ห้องเเบ่งเป็น สธ.46 ห้อง คือ สำนักปลัด สธ.23 ห้อง กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ 15 ห้อง กรมควบคุมโรคเเละกรมการเเพทย์ 8 ห้อง ภาคเอกชน 28 ห้อง เเละหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย 19 ห้อง ทั้งนี้ ในภาคเอกชน การจัดหาเครื่องมือและน้ำยาจะดำเนินการเอง ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนงบประมาณหรือน้ำยา ขณะที่มหาวิทยาลัย ภาครัฐอื่นๆ และกรมวิทย์ก็ไม่ได้ซื้อเครื่องมือใหม่ เพราะมีเครื่องมือเดิมอยู่แล้ว สำหรับโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัด สธ.ในต่างจังหวัด จำนวนหนึ่งมีเครื่องมือเดิมอยู่แล้ว หรือหน่วยงานที่ยังไม่มีเครื่องมือก็จะใช้วิธีการจัดซื้อน้ำยาและทางบริษัทจะนำเครื่องมือมาวางให้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องมือเอง โดยมีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่จัดหาเครื่องตรวจ RT-PCR โดยใช้เงินของ รพ.เอง คือ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุดรธานี และพิษณุโลก

นพ.โอภาสกล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการนี้ไม่ได้มีการกำหนดการซื้อเครื่องมือแบบรวม ไม่มีการกำหนดสเปก เพียงแต่ให้แต่ละหน่วยงานได้จัดการตามความเหมาะสมของตัวเอง เนื่องจากการจัดตั้งห้องปฏิบัติการแบบนี้ จะต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ที่ตรวจเครื่องมือเหล่านี้ได้ และต้องมีความปลอดภัยทางระบบชีวนิรภัย ตามที่มีข่าวบางสื่อบอกว่า จะมีการพัฒนาห้องแล็บ RT-PCR ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริงและมีความคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีนักเทคนิคการแพทย์ไปประจำอยู่ รวมถึงการพัฒนาระบบชีวนิรภัยคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นความคลาดเคลื่อน

“การเสนอข่าวว่าเราจะตั้งงบหลายพันล้านบาทเพื่อพัฒนาซื้อเครื่องมือ และเรื่องโยงเกี่ยวกับเรื่องทุจริต 30-40% กับนักการเมือง ก็ขออนุญาตเรียนว่าไม่เป็นความจริงเลย ตอนนี้เราทำห้องปฏิบัติการไปเกือบครบ 100 ห้องแล้ว ยังไม่ของบกลางหรืองบประมาณเพื่มเติมแม้แต่บาทเดียว เป็นงบประมาณที่แต่ละหน่วยจัดการขึ้นเอง ขอให้มั่นใจว่ากรมฯ จะพัฒนาห้องแล็บให้ตรวจอย่างเพียงพอ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ตั้งแต่ที่เราเปิดห้องบริการตรวจมาทั้งรัฐและเอกชนถึงวันที่ 10 เม.ย. เราตรวจตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 100,498 ตัวอย่าง จะเห็นว่าเราตรวจได้ค่อนข้างเยอะ ทั้งความร่วมมือของ สธ. ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชนต่างๆ ร่วมกันตรวจ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 4-10 เม.ย. มีการตรวจไปทั้งสิ้น 16,490 ตัวอย่าง

“โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการนี้สามารถดำเนินการได้ค่อนข้างดี และขอเรียนสื่อบางแห่งที่รายงานข่าวคลาดเคลื่อน ขอให้รายงานข่าวให้ตรงตามจริง เพราะข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริง นอกจากทำให้ประชาชนสับสนแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำงานหนักเกิดความรู้สึกท้อ กำลังใจในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องประชาชนจากโควิด-19” นพ.โอภาสกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น