สธ.เร่งลดแออัด รพ. ลดโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 ใน รพ. เผยแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกใหม่ จะเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยมีอาการปอดบวมทุกราย ป้องกันอาการรุนแรง แจงใส่หน้ากากนานๆ ไม่ทำให้เลือดเป็นกรด แต่ทำให้ง่วง เหนื่อยล้า จากคาร์บอนไดออกไซด์
วันนี้ (9 เม.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการลดความแออัดใน รพ.ในช่วงโรคโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาโรงพยาบาลมักเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19 เราจึงพยายามแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากผู้ป่วยทั่วไป และทำเรื่องการลดความแออัดใน รพ. เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่อาการดี ควบคุมโรคได้ มีมาตรการให้รับยาใกล้บ้าน ที่ร้านขายยา หรือการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ และเลื่อนนัดผู้ป่วย จากเดิมที่เคยให้ยา 1 เดือน ก็อาจจะให้เป็น 2-3 เดือน รวมถึงให้คำปรึกษาทางไกล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มอาการคุมได้ไม่ดี จะดำเนินการ 2 อย่าง คือ จัดบริการเทเลคอนเฟอเรนซ์ เช่น ไลน์คอล หรือ เฟซคอล คุยกับผู้ป่วยที่สามารถติดต่อได้ หรือนัดมาตรวจในช่วงไม่เร่งด่วนมากนัก ส่วนกลุ่มฉุกเฉินยังมารับบริการตามปกติ ทั้งนี้ เมื่อลดการใช้บริการ รพ.ได้ จะสำรองทรัพยากร บุคลากรมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มโควิด-19 ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องกับแพทย์ พยาบาลด้วย เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะรับการรักษาที่รวดเร็ว และสร้างความปลอดภัยให้บุคลากร ซึ่งบางกรณีที่ไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมด แพทย์อาจไม่ได้สงสัย แล้วหากเป็นโควิด-19 ขึ้นมา จะมีผลเสียกับตัวท่านเองและแพทย์
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกมาใหม่ สรุปว่า ผู้ป่วยทุกรายต้องนอนรักษาตัวที่ รพ.เบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นน้อย กลาง หรือมาก อย่างน้อย 2-7 วันแล้วแต่อาการคนไข้ ถ้าดีขึ้นเร็ว อาจมีการย้ายไปหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือ Hospitel ซึ่งจัดให้มีแล้ว โดยขอให้อยู่กับเราให้ครบ 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ อย่างไรก็ตาม ที่เปลี่ยนไป คือ ถ้าไม่มีอาการไม่ให้ยา มีอาการเล็กน้อยจะให้ยาต้านมาลาเรียกับยาต้านไวรัสเอดส์ ถ้าเป็นปอดบวมทุกรายไม่ว่าอาการน้อยหรือมาก จะให้ยาต้านมาลาเรีย ยาต้านไวรัสเอดส์ และ ยาฟาวิพิราเวียร์ ทุกราย คาดว่า จะลดผู้ป่วยเป็นปอดบวมรุนแรงได้ดีขึ้น และให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น
เมื่อถามว่า การสวมหน้ากากนานเกินไป อาจทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง ทำให้เลือดเป็นกรด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แพทย์หลายท่านออกมาชี้แจงแล้วว่า การสวมหน้ากากนานๆ ไม่ได้ทำให้เลือดเป็นกรด แต่ถามว่า มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งหรือไม่ ก็คงมี เพราะการสวมหน้ากากนานๆ ลมหายใจที่ออกมา ซึ่งเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ จะถูกกักในหน้ากากส่วนหนึ่ง ทำให้เรามีอาการเหนื่อยล้า และบางครั้งอาจมีอาการง่วงนอนบ้าง จึงเป็นที่มาว่าถ้าเราอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องใส่ แต่ถ้าออกไปในที่ชุมชนควรจะใส่