การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเวลานาน ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ เนื่องจากอาจทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่ง นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล ลงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ แต่เพจหมอในเฟซบุ๊กกลับออกมาเผยว่ายังไม่พบงานวิจัยที่สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ได้
จากกรณี ดาราหนุ่มรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเตือนเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อาจทำให้เกิดอาการอึดอัด หายใจไม่ออก ตัวร้อน มึนศีรษะ หน้ามือตามัว ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง นอกจากนี้ นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล หรือ “หมอกอล์ฟ” แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม ได้ออกมาเตือนว่า การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ออกซิเจนในเลือดลดลง ทำให้เลือดเป็นกรด เกิดปวดหัว มึนหัว เมื่อยตัว ครั่นเนื้อครั่นตัวได้ พร้อมแนะนำ ให้ สวม N95 ไม่สวมเกิน 1 ชม. ถอดมาพัก 30 นาที หน้ากากอนามัย สวมไม่เกิน 2 ชม. พัก 30 นาที และ หน้ากากผ้า สวมไม่เกิน 4 ชม. ถอดพัก 30 นาที
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เพจ “ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว” ได้ออกมาระบุข้อความเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว กับการสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลานานอาจทำให้เลือดกลายเป็นกรดโดยได้ระบุข้อความว่า
“ใส่หน้ากากอนามัยนานๆ ทำให้เลือดเป็นกรดจริงหรือ เห็นคนส่งต่อข่าวกันว่าการใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยนานๆ จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดหรืออันตรายจนเสียชีวิต ดังนั้น ให้ถอดเป็นระยะๆ เรื่องนี้จริงหรือไม่
1. ยังไม่เจองานวิจัยใดที่บอกว่าการใส่หน้ากากพวกนี้นานๆ ในการทำงานปกติแล้วจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ ... ภาวะเลือดเป็นกรดนี่ก็ไม่ใช่เจอกันง่ายๆ ด้วย ต่อให้ขาดอากาศ ก็ต้องขาดเยอะประมาณนึงถึงจะเกิดได้
2. แล้วการใส่หน้ากากนานๆเกิดอะไรได้บ้าง ก็มีหลายงานวิจัยกัน
- บางงานวิจัย วัดออกซิเจนในเลือดของหมอผ่าตัดที่ใส่หน้ากากนานๆ พบว่า พอทำงานไปนานๆ ออกซิเจนในเลือดลดลงหน่อยนึง ซึ่งเจอได้ในหมออายุเยอะมากกว่า
- บางงานวิจัยวัดค่าดู พบว่า พื้นที่ระหว่างหน้ากับหน้ากากมันจะกักคาร์บอนไดออกไซด์ไว้นิดนึง โดยเฉพาะ N95 เพราะมันใส่แน่นแนบชิดกว่า พอหายใจก็จะมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มนิด ออกซิเจนต่ำลงหน่อยนึง
- แต่บางงานวิจัยก็ไม่ได้บอกว่าผิดปกติ
- อาการที่เจอๆน่าจะเป็นปวดหัวเป็นหลัก
- ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตที่เกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย
โดยรวมสามารถเกิดคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นได้ แต่ยังไม่เจอข้อมูลเรื่องเลือดเป็นกรด
ดังนั้น ยังไม่ต้องกลัวขนาดนั้น สำหรับคนที่ใส่หน้ากากอนามัย ควรใส่เฉพาะช่วงที่จำเป็น ส่วนผู้ที่มีความสามารถในการหายใจน้อยกว่าปกติ (เช่น อายุมาก, มีโรคทางเดินหายใจ) หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องใช้หน้ากากนานๆ จะได้ลดการใส่หน้ากากลง การถอดหน้ากากหรือไม่ใช้หน้ากาก ควรดูความเสี่ยงเป็นหลัก และรักษาความสะอาดด้วย เพราะจังหวะการใช้มือจับถอดก็ถือเป็นช่วงที่มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน
สรุป ใส่เฉพาะจำเป็น ไม่จำเป็นก็ถอดออก เหนื่อยก็ถอดออก ใส่นานๆ จะเพลียจะปวดหัวเพราะต้องใช้แรงเยอะและคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปกตินิดนึง, ถ้าไม่มีอาการก็ใส่หน้ากากผ้า, ถ้าใส่เพื่อป้องกันให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงก่อนค่อยถอด อย่ากลัวจนถอดออกกลางพื้นที่เสี่ยง, เวลาถอดอย่าลืมล้างมือและรักษาความสะอาดด้วย”