xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ศิริราชแนะทำกิจกรรมช้า-หายใจช้าลดความอึดอัดระหว่างใส่หน้ากากอนามัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.อดุลย์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช แนะวิธีใส่หน้ากากอนามัยให้อึดอัดน้อยลง โดยแนะนำให้ประชาชนหายใจช้าๆ พร้อมทำกิจกรรมช้าๆ ช่วยลดความอึดอัดลงได้

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เพจ “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” หรือ รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการใส่หน้ากากอนามัยอย่างไรให้ไม่อึดอัด เนื่องจากหลายๆ คนประสบปัญหาต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกวันจากสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19

โดยระบุเนื้อหาว่า “ใส่หน้ากากอนามัย บางคนอึดอัดไม่สบาย ในยุคที่คนเกือบทุกคน ต้องมีประสบกาณ์ และ ต้องใช้ หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกัน การติดเชื้อ หรือ ป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งหน้ากากอนามัย ก็มีหลายแบบ ทั้งแบบที่เป็นผ้า แบบที่ใช้ในโรงพยาบาล หรือ ห้องผ่าตัด หรือ หน้ากากกรองฝุ่น หรือ เชื้อโรคที่เรียก N95 ซึ่งมีความละเอียด และ ประสิทธิภาพการกรองอย่างมาก แต่หลายคนมีประสบการณ์ ที่รู้สึกไม่สบาย หรือ อึดอัด จนบ่อยครั้งที่เราเห็นคนไม่ใส่ หรือ คล้องหูแต่ดึงไว้ที่คาง หรือ บางคนก็คล้องไว้กับมือแทน ความรู้สึกอึดอัด นั้น นอกจากความรู้สึก ยังมีความจริงทางวิทยาศาสตร์ร่วมอยู่ด้วยเพราะในการหายใจ แต่ละครั้ง ปริมาณอากาศที่เราหายใจเข้าออกประมาณ 500 มิลลิลิตร มีความเข้มข้นของออกซิเจนตอนหายใจเข้า เท่ากับอากาศปกติ คือ 21% มีคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับ 0.04% แต่ ลมหายใจออกของเรามีปริมาณออกซิเจน เพียง 16% และ คาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้น เป็น 4% ซึ่งขณะที่ไม่มีหน้ากากอนามัยกั้นอยู่ ตอนที่เราสูดหายใจเข้าไป ก็จะได้อากาศใกล้เคียงกับอากาศปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายเราคุ้นเคย ไม่มีปัญหาใดๆ

แต่เมื่อมีหน้ากากอนามัยกั้นอยู่ ปริมาณออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะไม่ได้เจือจางหรือผสมจนอยู่ในระดับปกติ จึงอาจจะมีปริมาณออกซิเจนที่สูดเข้าไปต่ำกว่าปกติเล็กน้อย และ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ สูงกว่าปกติเล็กน้อย การแลกเปลี่ยนก๊าซ จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ถึงจะมีการส่งถ่ายออกซิเจนจากอากาศเข้าสู่กระแสเลือด และ ส่งคาร์บอนไดออกไซด์จากเลือด ออกมาสู่อากาศในปอด ซึ่งความเข้มข้นของก๊าซ จะมีผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซ คือ ถ้าออกซิเจนน้อยลง การแลกเปลี่ยนก็น้อยลง ทำให้ได้ออกซิเจนไปใช้น้อยลง และถ้าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่หายใจเข้าสูงมากขึ้น ก็จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดมากขึ้น

และหากปริมาณออกซิเจนในเลือดถ้าต่ำกว่า 90% (จากปกติ 98-100%) จะมีอาการไม่มีแรง หรือ มีปัญหาทางสมอง และ ถ้าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (เลือดแดงที่ออกจากปอด) สูงเกิน 1% สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ชีพจรเร็วขึ้น ใจสั่น แต่อาการที่ว่านี้ ไม่ค่อยจะเกิด เพราะในหน้ากากอนามัยปกติ มักจะไม่เกิดปัญหา จนถึงจุดดังกล่าว ถึงแม้ออกซิเจนจะต่ำกว่าปกติเล็กน้อย และ คาร์บอนไดออกไซด์ สูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่มักจะไม่มากจนเกิดอาการ เพราะว่าอากาศมักจะไหลผ่านหน้ากากอนามัยได้ดีพอควร (เพราะมีขนาดเล็กกว่าฝุ่นละอองมาก)

จะมีกรณีเดียวที่อาจจะมีอาการมากหน่อย หากใช้หน้ากาก N95 เพราะมีการกรองที่หนาแน่นกว่า ทำให้อากาศไหลเวียนได้ช้ากว่า

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การหายใจให้ช้าลง เพราะจะมีเวลาให้อากาศแลกเปลี่ยนได้นานขึ้น และ ในกรณีที่รู้สึกไม่สบาย อาจจะเปิดหน้ากากอนามัย เป็นระยะ ขณะเดียวกัน กิจกรรมต่างๆ อาจจะต้องทำให้ช้าลง เพราะจะได้ใช้ ออกซิเจนน้อยลง มีคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นน้อยลงโดยรวมแล้ว หน้ากากอนามัยยังใช้ได้อยู่ครับ ต้องทำความคุ้นเคย และ ลดกิจกรรมให้ช้าลง




กำลังโหลดความคิดเห็น