เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการพิจารณาว่า จะสร้างโรงกำจัดขยะนิวเคลียร์ที่ไหนดี ตอนนั้นจะมีการลงประชามติระดับชาติ นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ออกไปสำรวจความเห็นประชาชน โดยถามว่า “คุณยอมให้มีโรงกำจัดขยะนิวเคลียร์ อยู่ในชุมชนของคุณหรือไม่?” ประชาชนร้อยละ 50 บอกว่ายอม เขารู้ว่ามันอันตราย และจะทำให้มูลค่าบ้านและที่ดินของเขาตกต่ำลง แต่ประเทศก็จำเป็นต้องสร้าง โรงกำจัดขยะนิวเคลียร์ขึ้น ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง และพวกเขาก็ควรมีความรับผิดชอบ ในฐานะพลเมืองของประเทศ
จากนั้นนักจิตวิทยาถามประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ด้วยคำถามที่ต่างไปเล็กน้อย ว่า "ถ้ารัฐจ่ายค่าตอบแทนให้คุณหกสัปดาห์ทุก ๆ ปี คุณจะยอมให้มีโรงกำจัดขยะนิวเคลียร์ อยู่ในชุมชนของคุณหรือไม่?" ผลปรากฏว่า มีแค่ร้อยละ 25 เท่านั้นที่ตอบว่ายอม ด้วยเหตุผลของการได้รับข้อเสนอเป็นแรงจูงใจ เป็นเรื่องน่าแปลกที่เมื่อมีการเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชน ความรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยชาติกลับน้อยลง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการที่คนเราจะตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องหรือการเสียสละนั้น ควรมาจากแรงจูงใจที่ลึกซึ้งมากกว่าเรื่องเงิน
การเสียสละ กล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง มาจากปัญญาและสามัญสำนึกซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แยบยลในการสร้าง แต่เมื่อมีแล้วเราจะสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างถาวร ในสุนทรพจน์พิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี บารัค โอบามาเรียกร้องให้ประชาชน พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤตทางการเงิน ในการพูดครั้งนั้น ท่านไม่ได้เดินรอยตามผู้นำคนก่อนหน้า ที่ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นในประเทศ หรือขยันทำงาน ขยายธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านขอร้องให้ประชาชนเปลี่ยนนิสัยแบบเด็ก ๆ และหันมาดำเนินชีวิตเติบโตขึ้น ยึดถือคุณธรรมอย่างจริงจัง
แต่ทั้งนี้ อริสโตติลกล่าวไว้ว่า คุณธรรม เป็นเรื่องที่ไม่ใช้สร้างกันได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องอาศัยปัญญา ซึ่งเราเรียกว่า ปัญญาคุณธรรม นั่นคือ สามัญสำนึก นั่นเอง สามัญสำนึกที่มาจากปัญญาจะทำให้คน ๆ หนึ่งเลือกที่จะทำ สิ่งที่ถูกต้อง เช่น เสียสละ ลำบากเพื่อคนอื่น ขยันเพื่อส่วนรวม และให้ความร่วมมือกับกติกาสังคม ซึ่งอาจทำให้ความสบายส่วนตัวน้อยลง แต่ทั้งนี้ปัญญาแห่งคุณธรรมมาจากการเรียนรู้ของประสบการณ์ ไม่ใช่ประสบการณ์อะไรก็ได้ แต่เป็นเรื่องราวที่เคยประสบมา จนสะท้อนใจ กระตุ้นให้อยากเข้าไปเป็นบุคคลที่ทำเพื่อคนอื่น
ในสังคมไทยเราห็นคนฉลาดเต็มไปหมด แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราไม่จำเป็นต้องฉลาดถึงขั้นลอยเหนือฟ้าก็ได้ แต่ทว่าหากฉลาดมากแต่ขาดปัญญาก็ไร้ประโยชน์หรืออาจเป็นผลเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นหนทางที่ทำให้คนบางคนคิดจะฝืนกฎ ไม่ทำตามครรลองสังคม ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ลำบากผู้อื่น เพียงแค่หาเหตุผลส่วนตัว ด้วยคำว่า "ช่างมัน"
สังคมมีกฎออกมาควบคุมพฤติกรรมคน ไม่ให้รบกวนใคร คนฉลาดทะนงตน ก็จะยึดถือความคิดตนและไม่คิดเปลี่ยน สังคมก็ต้องออกกฎมามากขึ้น เด็ดขาดขึ้น แต่ทั้งนี้เราลืมคิดไปว่า กฎเคร่งครัดออกมาควบคุมคนไม่มีปัญญา (แม้จะฉลาดก็ตาม)
ในการแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดโควิท 19 ของเมืองไทย กฎและแรงจูงใจได้ออกมาช่วยควบคุมปัญหา มันอาจทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นในระยะหนึ่ง แต่มันก็ยังสร้างวังวนแห่งปัญหาไม่รู้เจ็บ มีคนไม่เคารพกฎ ไม่ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ ไม่กักตัว ยังคงทำตามใจตัวเองตามนิสัยแบบเด็ก ๆ สิ่งนี้จึงสร้างผลร้ายไม่รู้จบ
พอกฎออกมาหนักขึ้นแรงขึ้น มันไม่พัฒนาคุณธรรม เพราะ ทักษะทางคุณธรรมถูกบั่นทอน คนมีโอกาสให้นั่งคิดน้อยลง นั่นคือจิตสำนึกไม่ได้ถูกฝึกฝน เมื่อไรที่ไม่มีใครเห็น แหกกฎได้ก็ยังมีคนทำ เช่นการแอบนัดกินเหล้า ชุมนุมกันอีก เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้
เราแต่ละคนเติบโตมาเจริญก้าวหน้า เพราะได้เห็นตัวอย่างที่ดี จากวีรบุรุษ ต่าง ๆ บิล เกตส์ทำโครงการความรู้คืออำนาจ เพื่อให้เด็กชุมชนแออัดได้เข้ามหาวิทยาลัย เรย์ แอนเดอร์ซัน มหาเศรษฐีซึ่งเปลี่ยนอาณาจักรของธุรกิจที่มุ่งเน้นหากำไร เป็นธุรกิจเพื่อปลอดมลพิษ ซึ่งเมื่อทำเพิ่อสังคมกลับทำให้ธุรกิจเขาทำเงินได้มากขึ้น และอีกมากมาย
ตัวเราเองก็อาจเป็นวีรบุรุษสามัญคนธรรมดาที่ลูกหลานเราเห็นในชีวิตจริง และยึดเป็นแบบอย่างได้ หากเราปรารถนาสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องเริ่มทำสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง โดยการเอาใจใส่การกระทำของตัวเองให้มากขึ้น คิดถึงผู้อื่น ส่วนรวมให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือ ปัญญาคุณธรรม ที่จะสร้างสามัญสำนึก และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้อย่างถาวร
ครูฮ้วง
-----------------
ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ