กรมสุขภาพจิต ชี้ คนไทยยังอยู่บ้าน รักษาระยะห่างไม่ถึง 80% ไม่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย กรมอนามัย ย้ำ การติดยังเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ไปในที่ที่มีการติดเชื้อ ย้ำ ต้องอยู่บ้าน และอยู่ห่าง ถึงจะอยู่รอด ลดเสี่ยงติดโควิด
วันนี้ (1 เม.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจความกังวลต่อโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. 2563 ผ่านทางเว็บไซต์จำนวน 15,838 คน พบว่า มีความกังวลต่ำ คือ ไม่ตระหนัก 900 คน คิดเป็น 5.68% กังวลปานกลาง 12,063 คน คิดเป็น 76.17% และกังวลสูง คือ มีความตระหนก 2,875 คน คิดเป็น 18.15% ซึ่งคนกังวลปานกลางถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่พร้อมขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เช่น อยู่บ้านหยุดเชื้อ รักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งเราต้องการความร่วมมือมากกว่า 80% ขึ้นไป เพราะการศึกษากรณีโรคไข้หวัดใหญ่ในออสเตรเลีย พบว่า หากร่วมมือแค่ 70% แทบไม่เกิดประโยชน์ เพราะกราฟผู้ป่วยังขึ้นสูง แต่หากร่วมมือมากกว่า 80% ขึ้นไป จะลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ เพื่อให้การระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียงกับผู้ป่วย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า แต่จากการสำรวจความร่วมมือในการลดไปที่แออัดและการรักษาระยะห่าง 2 เมตร พบว่า สัปดาห์แรกที่สำรวจ คือ วันที่ 12-18 มี.ค. การหลีกเลี่ยงไปที่แออัดมีคนทำ 83.9% ไม่ใกล้ชิดอยู่ห่าง 2 เมตร ทำ 86.9% แต่สัปดาห์ต่อมา วันที่ 21-25 มี.ค. เมื่อถามลึกขึ้น พบว่า การหลีกเลี่ยงไปที่แออัด ทำเป็นประจำ 66% ทำบ่อยๆ 28.3% ส่วนอยู่ห่าง 2 เมตร ทำประจำ 69.6% ทำบ่อยๆ 24.7% และสัปดาห์ถัดไป คือ วันที่ 28-29 มี.ค. พบว่า หลีกเลี่ยงไปที่แออัด ทำประจำเพิ่มขึ้นเป็น 71.1% ทำบ่อยๆ 24.7% ส่วนอยู่ห่าง 2 เมตร ทำประจำลดลง 67.9% ทำบ่อยๆ 26.6% ซึ่งต้องทำให้กลุ่มที่ทำบ่อยๆ หันมาทำประจำมากขึ้น โดยกลุ่มทำประจำต้องมากกว่า 80% ขึ้นไป ในการได้รับความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันเว้นระยะห่าง อยู่บ้าน อยู่ห่าง เพื่อให้ไทยอยู่รอด
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกคนตั้งคำถามคือติดหรือยัง ซึ่งการจะอยู่รอดต้องอยู่ห่าง สถานการณ์การติดเชื้อยังเป็นจากการใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ ผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดเราอธิบายได้ทุกราย เพราะไปจุดในใกล้แหล่งตัวเชื้อ ไปพื้นที่เสี่ยง รับเชื้อพื้นที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยแล้วก็ติด จึงมาที่มาตรการว่า ทำไมต้องอยู่ห่าง เพราะเรามีโอกาสอาจใกล้ชิดหรือสัมผัสเกิดขึ้น วิธีที่เราป้องกันตัวเองดีที่สุด คือ ทำระยะห่าง และอยู่บ้าน วันนี้ต้องให้ได้มากกว่า 80-90% โดยต้องสำรวจพฤตกรรมตัวเอง และอาจลดการออกนอกบ้านลง เช่น ซื้ออาหารอาทิตย์ละครั้งพอหรือไม่ ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานทุกวัน ก็ลดความเสี่ยงลงมา จัดการจุดผ่อนคลายอยู่ในบ้าน ไม่ให้ใจแตกอยากออกไปข้างนอก สังเกตตัวเองคนใกล้ชิดในครอบครัว ป่วยไม่สบายหรือไม่ หากมีก็ใส่หน้ากากอนามัยลดเสี่ยงในครอบครัว