ปลัด สธ.สั่งศึกษาการใช้ยูวีทำความสะอาดหน้ากาก N95 หลังกลุ่ม ร.ร.แพทย์ศึกษาและเริ่มนำมาใช่ ชี้หากอนาคตป่วยมากขึ้นจนอุปกรณ์ขาด อาจจำเป็นต้องรียูส ขณะที่เตียงรองรับโควิด-19 ใน กทม.มีราว 2 พันเตียง ใช้รักษาแล้ว 700 กว่าคน ส่วนต่างจังหวัด 1.5 หมื่นเตียง ใช้แล้ว 500 กว่าคน หน้ากากอนามัยได้จัดสรรเพิ่มเป็น 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน
วันนี้ (31 มี.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจัดเตรียมเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม.มีประมาณ 1,000 กว่าเตียง ร่วมกับหาโรงแรมโรงพยาบาลเพิ่มเติมจึงมีประมาณ 2,000 กว่าเตียง มีคนไข้อยู่ใน กทม.700 กว่าคนที่รักษาอยู่ โดยผู้ป่วยหนักมีการเตรียมเครื่องช่วยหายใจ ประมาณ 300 เครื่อง ตอนนี้ใช้ประมาณ 20 กว่าคน ส่วนต่างจังหวัดมี 1.2 แสนเตียง กันไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 1.5 หมื่นเตียง มีผู้ป่วยประมาณ 500 กว่าคน เครื่องช่วยหายใจว่างอยู่ 1,000 เครื่อง แต่ไม่เพียงพอถ้าเกิดการระบาดหนัก ต้องขอความร่วมมือกันไม่ให้ป่วยเป็นโรค โดยอยู่ระหว่างทำแผนจัดสรรทรัพยากร คำนวณการขยายเตียงดูแลผู้ป่วยหนักมากขึ้น และเตรียมห้องความดันลบแบบพิเศษ ขณะที่หน้ากากอนามัยจากเดิมมีการจัดสรรให้ทางสถานพยาบาล 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ตอนนี้ก็ได้เพิ่มเป็น 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากาก N95 ก็อยู่ระหว่างติดต่อขอซื้อจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้น จำนวน 1.5 พันล้านบาท ด้วยงบกลาง และ 2-3 วันนี้คงจะได้
นพ.สุขุมกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะจัดหาอุปกรณ์เข้ามาให้มีเพียงพอในช่วง เม.ย.นี้ แต่หากมีการระบาดมากขึ้นและเกิดความขาดแคลนก็จะต้องมีการประยุกต์ คือ จะมีการผลิตในประเทศ อย่างหน้ากาก N95 ก็มีทาง วช.ดำเนินการศึกษา คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 แสนชิ้น เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมที่จะผลิตชุดป้องกัน PPE ใช้ในประเทศ ส่วนการนำมาใช้ซ้ำ ตอนนี้มีข้อมูลการศึกษาจากทางศิริราช รามาธิบดี และจุฬาฯ อย่าง รพ.รามาธิบดี ก็มีการนำเครื่องยูวี 50 เครื่องมาใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อหน้ากาก ตนจึงมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ศึกษาในเรื่องนี้ หากอนาคตมีความจำเป็น คือ มีการระบาดมากขึ้น อุปกรณ์ต่างๆ อาจขาดแคลนจำเป็นก็จะประกาศให้หน่วยงาน สธ.นำหน้ากากเหล่านี้มาทำความสะอาด กำจัดเชื้อโรคและใช้ตามมาตรฐาน