ศคบ.เผยมีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 136 ราย ยอดสะสม 1,524 ราย ระบุคนสัญจรลดลงเฉลี่ย 40% แต่ยังไม่พอ หากจะลดโอกาสแพร่เชื้อจะต้องร่วมมือกันเกิน 90% ส่วนหน้ากากอนามัยจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1.3 ล้านชิ้น ขณะที่หน้ากาก N95 ที่ซื้อจากอเมริกามีแววไม่ได้ยอดตามเป้า หลังอเมริกาเจอพิษโควิดระบาดหนัก เผยประสานสยามโคเค็นผลิตขายให้เดือนละ 1 แสนชิ้น พร้อมนำเข้าจากจีน 1.3 ล้านชิ้น เผย 31 มี.ค.ได้ 4 แสนชิ้น พร้อมกระจายให้ทุก รพ.ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด
วันนี้ (30 มี.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 136 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย ถือว่าผู้ป่วยรายใหม่ยังทรงๆ แต่ยอดสะสมยังเพิ่มขึ้น โดยนายกฯ บอกว่าอย่าชะล่าใจ แม้จะเป็นข่าวดีที่ทำให้ตัวเลขรายใหม่ไม่ยกขึ้นจำนวนมาก แต่ขอให้ประชาชนร่วมมือกันเข้มแข็งที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวเลขโดยรวมสูงไปมากกว่านี้ หากจำแนกตามพื้นที่จะพบว่า พื้นที่ กทม. นนทบุรี ยังมีตัวเลขที่สูง แต่แนวโน้มของต่างจังหวัดยังมีขึ้นๆ ลงๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งผู้ป่วยในต่างจังหวัดเริ่มมากกว่า กทม.ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.เป็นต้นมา
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนมีการสัญจรไปมาลดลงจากวันที่ 21 มี.ค. โดยการสัญตรด้วยรถประจำทางลดลง 45.58% รถยนต์ส่วนตัวลดลง 41.33% รถไฟฟ้าลดลง 58.63% รถไฟระหว่างเมืองลดลง 64.67% การโดยสารทางน้ำลดลง 40% อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือมากยิ่งขึ้น ต้องได้ประมาณ 90% ถึงได้ผลในการช่วยกันลดโอกาสแพร่เชื้อ แต่ตอนนี้ลดแค่ 40% เท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถลดกราฟการแพร่ระบาดลงได้ ประชาชนต้องมาร่วมตรงนี้ด้วย
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.กล่าวว่า พฤติกรรมคนไทยมีการเปลี่ยนแปลง การจะลดการแพร่กระจายของเชื้อได้นั้นอยู่ที่การหลีกเลี่ยงไปพื้นที่แออัดและการห่างกันเกิน 2 เมตร จากการสำรวจช่วง 2 วัน คือ วันที่ 27-28 มี.ค. พบว่า 71% ทำเป็นนิสัยแล้ว คือ ไม่ไปสถานที่แออัด และห่างกันเกิน 2 เมตร จึงอยากเน้นให้ทำกันมากกว่านี้คือมากกว่า 90% จะทำให้โรคลดลงได้ สำหรับการจัดสรรทรัพยากรที่น่าห่วง คือ สหรัฐอเมริกาที่เตรียมเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ หรือทางยุโรปมีปัญหาการระบาดโรคนี้มากกว่าเรา ทำให้การเตรียมเรื่องทรัพยากรต่างๆ ลดลง จึงต้องมีการวางแผนเลยจัดเตรียมหน้ากากอนามัยที่ผลิตในประเทศ และจากการพิจารณาความต้องการเพิ่มขึ้นนั้น จึงขอรับการจัดสรรหน้ากากอนามัยวันละ 1.3 ล้านชิ้น ได้แก่ รพ.ในสังกัด สธ.8 แสนชิ้น รพ.นอกสังกัด สธ.1 แสนชิ้น รพ.มหาวิทยาลัย 1.5 แสนชิ้น รพ.เอกชน 1.5 แสนชิ้น และ รพ.สังกัด กทม.1 แสนชิ้น
นพ.สุขุมกล่าวว่า ส่วนหน้ากาก N95 ที่ใช้กับคนไข้ป่วยหนักในภาวะห้องฉุกเฉิน ไอซียู และโควิด-19 สถานการณ์วันนี้ความจริง คือ เราเคยซื้อ N95 จากบริษัท 3M ที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกา เป็นการนำเข้า ส่วน N95 ผลิตในไทยเพื่อการส่งออก คือ บริษัท สยามโคเค็น ของญี่ปุ่น แต่ส่วนมากไทยไม่ได้ซื้อจากแหล่งนี้ เราจึงทำโครงการเฉพาะจัดหาเพิ่มเติมและจัดสรรหน้ากาก N95 สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้โดยทั่วไปของใน รพ. โดยผู้ป่วย 1 คน ต้องมีบุคลากรใช้ N95 จำนวน 15 ชิ้นต่อวัน หากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค มีบุคลากรต้องใช้ 5 ชิ้น โดยช่วงวันที่ 7-28 มี.ค. ได้กระจายหน้ากาก N95 ไปแล้ว 1.83 แสนชิ้น ตามยอดผู้ป่วยโควิดที่รพ.ได้รับ
“จากการคาดคะเนว่าหากเรามีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 หมื่นคน เราจะต้องใช้หน้ากาก N95 จำนวน 5 แสนชิ้นใน 1 เดือน หรือ 1.7 หมื่นชิ้นต่อวัน ทำให้มีการติดต่อหาแหล่งที่มาหน้ากาก N95 ซึ่งเราติดต่อกับ 3M ของอเมริกา โดยติดต่อตั้งแต่ ม.ค. 2563 เพื่อขอซื้อ โดยได้กำหนดส่งจำนวน 2 แสนชิ้นในวันที่ 10 เม.ย. 2563 แต่เรายังไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะทยอยได้แค่หลักหมื่นชิ้น สถานการณ์อเมริกาในขณะนี้อาจมีปัญหาในการส่ง N95 ส่วนสยามโคเค็นผลิตในไทยเรามีการคุยเบื้องต้นก็ยินดีขายให้แก่เราเพื่อใช้ในประเทศ เดือนละ 1 แสนชิ้น และมีการติดต่อรัฐบาลจีนโดยซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เรามอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการจัดซื้อซึ่งได้อนุมัติงบ 1.5 พันล้านบาทในการซื้อ ก็ตอบรับว่าจะขายให้เรา 1.3 ล้านชิ้น ก็จะดำเนินการนำเข้าประเทศไทย โดยบอร์ด อภ.จะมีการประชุมวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งก็พร้อมที่จะนำเข้าทันที 4 แสนชิ้น และกระจายทั่วประเทศ แต่เราจ่ายเฉพาะการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น แต่หาก รพ.ต่างๆ จำเป็นต้องใช้ ก็อาจต้องแบ่งบางส่วนให้แก่การดำเนินปกติของ รพ.ด้วย” นพ.สุขุมกล่าว