xs
xsm
sm
md
lg

อนาถ...“ชุดแพทย์กันโควิด-19” มีไม่พอ!! ต้องทำเอง-สวมแฟชั่นเลียนแบบ “ดีที่สุดเท่าที่หาได้แล้ว!!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ใครจะว่ายังไงว่ามีเพียงพอ ไม่รู้ แต่จริงๆ ขาดหมด” เสียงจากนักรบชุดกาวน์ สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ชุดป้องกันมีไม่พอ-ตัดชุดเอง-ใช้หน้ากากอนามัยซ้ำ “เราอยากได้ชุดที่มีมาตรฐาน แต่มันไม่มีใส่ ต้องเข้าใจ”

ของไม่เพียงพอ นาทีนี้ต้องพึ่งตัวเอง!

“ทั่วประเทศใช้ซ้ำหมด ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ใช้ซ้ำ หน้ากากที่หมอใส่ก็ใช้ซ้ำ ทุกแห่งขาดหมด ใครจะว่ายังไงว่ามีเพียงพอ ไม่รู้ แต่จริงๆ ขาดหมด”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์หลายคนใช้โลกออนไลน์เป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงสถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรา



ที่ไม่เพียงแค่ยากจะควบคุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันต่างๆ สำหรับแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นชุดหมี PPE, หน้ากากพลาสติก face shield และหน้ากากอนามัย ที่ควรจะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ตอนนี้ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงต้องตัดชุดและประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เอง เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ!

“มันไม่มีอะไรจะใช้ เราอยากได้ชุดที่มีมาตรฐาน แต่มันไม่มีใส่ ต้องเข้าใจ จะให้เดินตัวเปล่าเข้าไปดูคนไข้ก็ไม่ได้ แม้กระทั่งตอนนี้หน้ากากผ้าสมัยก่อนที่เราเอามาผูก เวลาดูคนไข้เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ก็ต้องเอามาใช้ ชุดเสื้อกาวน์ที่ทำด้วยผ้าที่ใช้เสร็จแล้วก็เอามาซักแล้วใช้ใหม่ ก็เอามาใช้ เพียงแต่เราคลุมผ้าพลาสติกกันน้ำกันไว้อีกชั้นนึง

เพราะฉะนั้นพวกที่ไม่เคยดูคนไข้ พวกที่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์จริง ก็จะบอกว่ามันพอนะ อันนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ไม่ได้มาตรฐาน ก็มันไม่มีให้ใช้ Face shield ที่พูดถึง คิดง่ายๆ อะไรที่ไม่อยากให้มันเข้าหน้าเข้าตาเรา ก็มีแผ่นพลาสติกกันไว้เท่านั้นเอง ทำเองก็ได้”


บุคลากรโรงพยาบาลยะลาช่วยกันตัดเย็บชุดป้องกันโควิด-19

ล่าสุด เรือนจำทั่วประเทศ ที่ตอนนี้มีการใช้พลาสติกใสคลุมห้องกักตัวผู้ต้องขังใหม่ เพื่อเป็นการสกัดกั้นเชื้อโควิด-19 รวมถึงการดัดแปลงรถเข็นผู้ป่วย โดยใช้พลาสติกใสคลุม สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง

“ก็ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าถ้าจะเอาสง่างาม มันไม่มี ฉะนั้น อะไรก็ตามที่มันเป็นผ้า เป็นพลาสติกที่คลุม ไม่ให้มีการกระเด็น กระจัดกระจายออกจากตัวผู้ป่วย หรือว่ากันไม่ให้มาโดนตัวเรา แค่นั้นก็ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้”

ใส่ Face shield กันเพิ่มอีกเท่า

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีอีกเรื่องราวที่ทำให้ประชาชนเกิดการตั้งคำถาม จากประเด็น face shield หรือหน้ากากพลาสติกสำหรับครอบศีรษะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ถึงกรณีที่มีการแนะนำประชาชนสวมหน้ากาก face shield ที่มีลักษณะเป็นพลาสติกใสครอบศีรษะเพียงอย่างเดียว แทนการใส่หน้ากากอนามัย ว่าเป็นการไม่สมควร เนื่องจากหน้ากากดังกล่าวมีช่องว่าง



ใจความบางช่วงบางตอนของโพสต์ระบุว่า “สำหรับหน้ากากคลุมหน้า face shield เราจะให้บุคลากรทางการแพทย์ และจะต้องใส่ทั้งหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะ N95 แว่นตา goggle เพื่อป้องกันการติดโรคให้สมบูรณ์ ในคนปกติ ที่มีข่าวออกมาให้ใส่หน้ากากคลุมหน้า face shield แทนการใส่หน้ากากอนามัย จึงไม่เป็นอันสมควร เพราะยังมีช่องเข้าสู่จมูกและปาก และหน้าตา

แต่ถ้าใครจะใส่หน้ากากอนามัย และคลุมด้วยหน้ากากคลุมหน้า face shield ในคนปกติก็ไม่ว่ากัน หน้ากากคลุมหน้าที่ใช้พลาสติกบางใสๆ อ่อนไปอ่อนมา จะยิ่งลดความปลอดภัยลงอีก แต่ต้องไม่ลืมว่าจะต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย”

ขณะที่ในสังคมตอนนี้มีการวางขายหน้ากากที่ทำขึ้นลักษณะเดียวกับ face shield สไตล์แฟชัน รวมถึงมีบางคนเผยแพร่วิธี DIY หน้ากากพลาสติกใส เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนทำใช้เองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วอุปกรณ์นี้สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ และประชาชนจำเป็นต้องใช้เพียงใด?!


หมอก้องสาธิตการทำ face shield ด้วยตนเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณหมอธีระวัฒน์ ให้ความคิดเห็นไว้ว่า face shield สามารถป้องกันละอองฝอยที่จะกระเด็นมาสัมผัสใบหน้าและดวงตาได้ หากอยากใช้ก็สามารถนำใช้ได้ไม่มีปัญหา

“อุปกรณ์ลักษณะนี้ก็คือทำเลียนแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์จริงๆ ที่ใช้อยู่ เพียงแต่ว่ามันเป็นแผ่นพลาสติกใสเท่านั้นเองที่ใช้ ข้อสำคัญก็คือว่ามันกันละอองที่มันกระเด็นเข้าหน้า ตอนนี้มันมีอะไรที่สามารถที่จะป้องกันได้ จากการพูด จากการไอ หรือว่าสิ่งที่มันกระเด็นออกมาเข้าหน้า ตรงนี้ก็ใช้ได้

ในขณะเดียวกัน ถ้าเราใส่ face shield แล้วก็มีหน้ากากอนามัยกันอีกทีนึง ถ้ามันจะหลุดเล็ดลอดเข้ามาทางใต้ Face shield มันก็มีหน้ากากสำหรับปิดจมูก ปิดปาก แล้ว face shield มันสำหรับกันลูกตาไม่ให้มีอะไรกระเด็นเข้า ดูแล้วไม่เห็นมีปัญหาอะไร ยังไงก็ตามถ้าหากว่าไม่ได้เผชิญในภาวะที่… สมมติว่าคนไข้ที่กำลังจะเสียชีวิต ต้องใส่ท่อ อย่างนั้นจะต้องใส่ชุดที่แน่นหนากว่านี้ แต่ว่าอันนี้ก็เป็นลักษณะที่ประชาชนทั่วไปทำเอง



ส่วนความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปต้องใช้ face shield นั้น คุณหมอกล่าวว่า “ดูตามสถานการณ์ ถ้าหากว่าเราใส่หน้ากากอย่างเดียว ไม่กันกระเด็นเข้าตา เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่หน้ากากด้วย แล้วเราก็มีอะไรสวมหน้า อันนั้นก็ยิ่งปลอดภัยใหญ่ ถ้าหากว่าเราไปอยู่ที่คนหนาแน่น ต้องอยู่ในรถประจำทาง เราก็ใส่ทั้ง 2 อย่างก็น่าจะเหมาะสม จริงๆ แล้วก็ลอกเลียนจากอุปกรณ์ทางการแพทย์มา 100 เปอร์เซ็นต์เลย ที่เขาทำกันเอง และที่โรงพยาบาลต่างๆ ก็ทำกัน

ทางหัวหน้าศูนย์ควบคุมป้องกันโรคของจีน เขาก็ส่งข่าวไปที่ยุโรปกับอเมริกา ว่าไม่ใส่หน้ากากคือความคิดที่ผิดมาก แล้วดูสิว่าประเทศอเมริกากับแถบยุโรปเกิดอะไรขึ้นที่ไม่ใส่หน้ากาก ประเทศจีนเขาทำยังไง เราทำอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีอุปกรณ์มากพอเราก็ต้องช่วยเหลือตนเอง ทำเองบ้าง ดัดแปลงบ้าง ก็ไม่เห็นเสียหายเลย”

สำหรับใครก็ตามที่มีความประสงค์ บริจาคสิ่งของหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่างๆ คุณหมอธีระวัฒน์ ได้ฝากไว้ว่า “อีกสักพักคงมีการรวบรวมความต้องการหรือความขาดแคลนของโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทย โดยที่มาจากความต้องการของคนหน้างานจริงๆ ไม่ใช่มีคำสั่งมาจากใครก็ตามว่าห้ามบอกความจริง เสร็จแล้วเราก็จะได้พยายามที่จะเข้าไปให้อุปกรณ์เหล่านี้ให้ถึงตรงกับคนหน้าด่านจริงๆ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @Kong_sarawit และเฟซบุ๊ก “สุนิสา มาลัยเพชร”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น