จากสถานการณ์โรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้คนแห่ไปตรวจยืนยันการติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งที่บางคนไม่ได้มีประวัติความเสี่ยง หรือบางคนที่ไปมีความเสี่ยงมาและรีบไปตรวจ เมื่อผลตรวจไม่พบก็บอกว่าตนเองปลอดภัย แล้วออกมามีกิจกรรมภายนอก ทั้งที่ระยะการฟักตัวของโรคต้องเฝ้าระวังไปจนถึง 14 วันถึงจะแน่ใจว่าไม่ป่วย และยิ่งช่วงนี้ที่พบจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ก็ยิ่งตื่นตระหนกเพื่อจะไปตรวจยืนยันเชื้อมากขึ้น
แล้วการตรวจยืนยันโรคโควิด-19 กลุ่มไหนควรไปตรวจ และควรไปตรวจตอนไหน
กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ได้แก่
1.ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด กลุ่มนี้ไม่ใช่ว่ากลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ต้องมาตรวจเลย เพราะเชื้อมีระยะเวลาฟักตัว ดังนั้น หากกลับมาแล้วตรวจเลย จึงทำให้ตรวจไม่พบ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่ติดเชื้อ หรือว่าติดเชื้อแล้วแต่อยู่ระยะการฟักตัวของโรค ฉะนั้น ผู้ที่กลับมาจากพื้นที่ระบาด ควรกักตัวเอง 14 วัน แยกตัวเองออกจากครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ และควรมาตรวจเมื่อเริ่มมีอาการป่วย คือ ไข้ ไอ อาการทางเดินหายใจ เช่นนี้ถือว่าเข้าเกณฑ์ ไม่ต้องเสียค่าตรวจแล็บ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบก็ตาม
2.ผู้ที่ทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับกลุ่มแรก คือ ควรมาตรวจเมื่อมีอาการป่วย คือ ไข้ อาการทางเดินหายใจ ก็จะเข้าเกณฑ์ที่สามารถตรวจได้ฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
3.ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโควิด-19 คือ มีการพูดคุยกับผู้ป่วยระยะไม่เกิน 1 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกผู้ป่วยไอจามใส่ โดยไม่ได้ป้องกันตนเอง หรืออยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 15 นาที และอยู่ห่างกับผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันในระยะไม่เกิน 1 เมตร กลุ่มนี้จะได้รับการติดตามจากกรมควบคุมโรคอยู่แล้ว ที่จะต้องกักกันตัวเอง 14 วัน และเฝ้าระวังอาการ ซึ่งจะมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากไม่พบการติดเชื้อก็จะติดตามจนครบ 14 วัน
4.ผู้ที่มีอาการปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ กลุ่มนี้เมื่อมาโรงพยาบาล จะได้รับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5.บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มนี้จะได้รับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากไม่พบก็จะติดตามต่อเนื่องจนครบ 14 วัน โดยระหว่างนี้ให้แยกตัวเองเพื่อสังเกตอาการ
6.มีผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มนี้เมื่อติดตามพบจะได้รับการตรวจโควิด-19 ด้วย
7.ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กำลังทยอยตรวจโรคโควิด-19 เพื่อความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย
หลักเกณฑ์สำคัญคือ มีประวัติเสี่ยงแล้วต้องมีอาการป่วยทางเดินหายใจด้วย จึงจะตรวจแล้วไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเจอเชื้อหรือไม่ก็ตาม แต่หากมาตรวจตั้งแต่วันแรกๆ หรือยังไม่มีอาการป่วย ก็จะไม่เข้าเกณฑ์นี้ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ยกเว้นว่า มาตรวจแล้วเจอเชื้อจึงจะไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเสียค่าใช้จ่ายแล้วก็ต้องได้รับเงินคืน
กลุ่มที่ 2 ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยง กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมาตรวจยืนยันเชื้อ ซึ่งหากกลุ่มนี้มาตรวจยืนยันนอกจากเพิ่มภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเองด้วย
อย่างไรก็ตาม การตรวจยืนยันว่าเป็นผู้ป่วย ผลการตรวจว่าติดเชื้อจะต้องตรงกันจำนวน 2 แล็บที่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้น หากไม่มีความเสี่ยงแล้วมาตรวจ แล้วเจอผลบวกปลอม จึงต้องมีการตรวจยืนยันเพิ่มเติม และสุดท้ายหากออกมายืนยันว่าไม่ได้ติดเชื้อจริง ก็ยิ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
สำหรับขณะนี้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ประเทศไทยที่สามารถตรวจยืนยันโรคโควิด-19 ได้อยู่ในเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง ได้แก่ 1.ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง แบ่งเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ส่วนกลาง) 1 แห่ง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาค 14 แห่ง และ 2.ห้องปฏิบัติการเครือข่าย 20 แห่ง ได้แก่ 1) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2) คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี 3) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4) รพ.ราชวิถี 5) สถาบันบำราศนราดูร 6) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
7) รพ.บำรุงราษฎร์ 8) คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9) รพ.มหาราชนครราชสีมา 10) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 11) รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น 12) ศูนย์วิจัยมาลาเรียโชโกล ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา 13) รพ.ลำปาง 14) รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 15) บริษัท ไบโอ โมเลกุลาร์ แลบบอราทอรีส์ (ประเทศไทย) 16) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายไทย) 17) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สหรัฐอเมริกา) 18) สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง 19) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี และ 20) รพ.นครปฐม
สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ หากเป็น รพ.รัฐ ราคาอาจอยู่ที่ประมาณหลักพัน เช่น สถาบันบำราศนราดูร อยู่ประมาณ 2,500 บาท แต่กรณี รพ.เอกชนก็อยู่ในระดับที่เฉียดหมื่นบาท ซึ่ง รพ.เอกชน เกือบทั้งหมด ยังไม่สามารถตรวจยืนยันเชื้อเองได้ก็ต้องส่งต่อไปยังห้องแล็บ 35 แห่งเหล่านี้ที่ตรวจได้ จึงเป็นเหตุผลที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในราคาแพง
ดังนั้น หากตัวเองมีความเสี่ยงและมีอาการป่วย จึงสามารถเข้าตรวจฟรีได้ แต่ถ้ายังไม่มีอาการ ให้แยกตัวสังเกตอาการจนครบ 14 วันก่อนว่ามีอาการป่วยหรือไม่ หากไม่มีอาการป่วยเลยก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ