สธ.เผยไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ กลับบ้านเพิ่ม 2 ราย รวมเป็น 33 ราย แจงคัดกรอง “ผีน้อย” เกาหลีใต้วันแรก 4 ไฟลต์บินได้ 500 กว่าคน ทุกคนร่วมมือไปสถานที่กักตัวเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน ส่วนเคสหลบหนี เป็นการเดินทางมาก่อนหน้านั้น เผยจะเร่งติดตามตัวเพื่อให้ลงทะเบียนรายงานสุขภาพทุกวัน แต่ให้กักตัวที่บ้านได้ ย้ำ มาตรการนำมากักในสถานที่กำหนด ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อกับคนในครอบครัว
วันนี้ (8 มี.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า วันนี้ (8 มี.ค.) ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยสะสมจึงยังเท่าเดิม 50 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ. 16 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย แต่อาการไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง ยังคงรับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 4,366 คน กลับบ้านแล้ว 2,629 คน ยังรักษาตัวใน รพ. 1,737 คน เฉพาะเมื่อวานมีผู้เข้าเกณฑ์มากกว่า 130 คน สำหรับต่างประเทศขณะนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 90 ประเทศ จำนวนผู้ป่วย 106,195 ราย เสียชีวิต 3,600 ราย โดยสถานการณ์ในจีนผู้ป่วยรายใหม่ชะลอตัวลงชัดเจน จากหลักพันเหลือหลักร้อย ส่วนประเทศอื่นๆ พบว่า หลายประเทศทวีความรุนแรง ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ จะดำเนินการส่งตัวมายังสถานที่รับไว้เพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน ส่วนการประกาศ 4 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคโควิด-19 คือ เกาหลีใต้ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) อิตาลี และ อิหร่าน ให้ผู้เดินทางจาก 4 ประเทศลงทะเบียนและแจ้งอาการตามความเป็นจริง 14 วัน ผ่านช่องทางที่สะดวก เช่น อาการวันนี้ มีไข้ ไอเจ็บคอ หรือไม่ ซึ่งถ้ามีและรายงานเข้ามาก็จะดูแลได้อย่างรวดเร็ว โดยต้องรายงานอาการตามจริง ถ้าไม่รายงาน หรือไม่เป็นจริงหรือเป็นเท็จเราสามารถลงโทษได้ และขอความร่วมมือพักกับบ้าน 14 วัน ไม่ออกไปข้างนอก ถ้าร่วมมือก็จะไม่เป็นประเด็น แต่ถ้าไม่ร่วมมือก็จะพามายังสถานที่เพื่อเฝ้าระวัง สำหรับประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ขอให้เลี่ยงการเดินทาง และหากกลับมาจากประเทสอื่น นอกจาก 4 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรค ขอให้เฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน 14 วันด้วย
เมื่อถามว่า คนกลับจากเกาหลีใต้ที่ไม่ใช่แรงงานนอกระบบ แต่มาจากเมืองที่มีการระบาด เช่น แทกู คยองซังเหนือ ต้องถูกนำมากักเหมือนแรงงานนอกระบบหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่นำมายังสถานที่กักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ส่วนคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากแทกูหรือคยองซังเหนือหรือไม่ ก็ให้กลับไปกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน แต่ต้องรายงานสุขภาพทุกวัน คนต่างชาติที่มาจาก 4 ประเทศนี้ก็เช่นกัน จะต้องรายงานสุขภาพและกักตัวเองจนครบ 14 วันด้วยเช่นกัน
เมื่อถามถึงกรณีแรงงานไทยผิดกฎหมายที่กลับจากเกาหลีใต้ (ผีน้อย) มีการหลบหนีจากการกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน ประมาณ 80 คน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เราเริ่มคัดกรองแรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ไฟลท์แรก เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 คือ ไฟลต์ LJ003 มีจำนวน 104 คน โดยวันที่ 7 มี.ค. 2563 มีจำนวน 4 ไฟลต์บิน คัดกรองแรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ได้ประมาณ 500 กว่าคน และได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการพาไปยังสถานที่เพื่อเฝ้าสังเกตอาการทุกคน ส่วนที่มีข่าวว่าหนีนั้น เข้าใจว่าเป็นไฟลท์ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการคัดกรอง ที่เรายังไม่สามารถชี้แจงมาตรการอย่างเข้าอกเข้าใจได้ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา ซึ่งเราจะติดตามให้ได้ทุกคน เพื่อให้ลงทะเบียนรายงานสุขภาพทุกวัน โดยจะขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็จะนำตัวมายังสถานที่เฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ตนยังไม่ถือว่าหลบหนี เพราะยังไม่ได้มีการชี้แจงมาตรการให้เข้าใจ
“นับตั้งแต่เริ่มคัดกรองไฟลท์แรก แรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ให้ความร่วมมือทุกคนในการไปสถานที่เพื่อเฝ้าระวังโรค เพราะเรามีการชี้แจงทำความเข้าใจ ว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการลดความเสี่ยงประเทศไทย และครอบครัวของแรงงานไทยกลับจากเกาหลี เพราะหากกลับมาพร้อมโรค การกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว แล้วมีอาการขึ้นมา หากอยู่ในสถานที่รับไว้สังเกตอาการที่รัฐจัดให้ โอกาสแพร่เชื้อคนอื่นก็แทบเป็นศูนย์ เพราะดูแลอย่างดี แต่ถ้ากลับไปโดยไม่รู้ปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วมีอาการขึ้นมา คนเสี่ยงที่สุด คือ คนในบ้าน จะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทันที ถ้ามองว่าเป็นมาตรการที่ทุกคนชนะ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เรารับมาสังเกตอาการ ซึ่งยังไม่ป่วย และถ้าป่วยก็จะรู้โดยเร็วส่งไปรักษาได้ทันที โอกาสโรคแพร่ออกจากสถานที่รับไว้สังเกตอาการแทบไม่มีเลย อยากเรียนให้คนไทยที่ออกมาตั้งแง่ ไม่อยากให้สถานที่กักกันอยู่ตรงนั้นตรงนี้ได้เข้าใจ ให้ลดการตั้งแง่รังเกียจซึ่งกันและกัน มาเป็นร่วมมือกันดีกว่า ประเทศไทยต้องการสิ่งนี้มากๆ ถึงผ่านวิกฤตนี้ไปได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 น้อย ทำให้มีรายงานผู้ป่วยน้อย ต่างจากประเทศอื่นที่มีการตรวจคัดกรองจำนวนมาก นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เราจะเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการระบาดแล้วไม่ได้ ซึ่งเมื่อเขามีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องมีการตรวจจำนวนมาก ส่วนของประเทศไทยนอกจากผู้ป่วยเข้าเกณฑืสอบสวนดรคที่มีการตรวจคัดกรอง ยังมีการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยอีก การมีเคสจำนวนมากก็ต้องมีการตรวจมาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เราไม่ได้มีการตรวจน้อยแต่อย่างใด
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การชะลอการแพร่ระบาดในไทย มี 2 ส่วน คือ 1. การจัดการกับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ มาตรการเฝ้าระวังคนไทยด้วยกัน เพราะมีอาชีพความเสี่ยงติดโรคได้ ซึ่งเรามีการขยายวงเฝ้าระวังออกไป และพยายามเตรียมสถานพยาบาลให้พร้อม หากแพร่ระบาดในประเทศ รพ.ทุกจังหวัดกำลังเตรียมความพร้อม และ 2. ประชาชนและสังคมต้องเตรียมพร้อมด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ภาครัฐฝ่ายเดียวที่จะจัดการปัญหานี้ได้ โดยประชาชนทั้งระดับตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน หรือสังคม เตรียมพร้อม รู้วิธีปฏิบัติตัวหรือยังว่าต้องทำอย่างไรถึงป้องกันการติดเชื้อ บริษัทห้างร้านต่างๆ ออกมาตรการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ถ้าร่วมกันคนละไม้คนละมือออกมาตรการต่างๆ ออกมา ส่งเสริมสนับสนุนลดการแพร่โรค พวกเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในสังคมไทยมากขึ้นด้วย หรือส่งข้อความช่วยให้เรารู้ว่าควรทำตัวอย่างไรถึงจะไม่ติดโรค ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงด้วยการสร้างความตื่นกลัว ตีตรา รังเกียจผู้ป่วยสัมผัสโรค จะทำให้มาตรการที่คิดไว้ดำเนินการไปได้มีประสิทธิภาพ
“ที่น่าห่วงคือ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การตีตรา การรังเกียจเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความกลัวและตื่นตระหนกจะทำอันตรายต่อสังคมได้มากกว่าไวรัส อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าโรคเป็นอย่างไร มีโอกาสติดโรคอย่างไร เข้าใจธรรมชาติของโรค ป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร ดีกว่าไปตั้งแง่รังเกียจตีตราทั้งคนป่วยและไม่ป่วย ความเข้าอกเข้าใจ เชื่อใจ ทำให้เราผ่านความยากลำบากช่วงนี้ไปได้ ซึ่งเรายังต้องอยู่กับเรื่องนี้ไปอีกสักพัก ความไว้เนื้อเชื่อใจจะพาเราผ่านไปได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ส่วนจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ยังประเมินไม่ได้ อย่างตอนนี้มีคนป่วยใน 90 ปรเทศ มีการระบาดวงกว้างในหลายประเทศประมาณเกือบ 10 ประเทศ แต่ไม่นานก็อาจจะมีการป่วยจนครบ 200 กว่าประเทศในโลก ก็ต้องพิจารณาว่าแต่ละประเทศควบคุมโรคได้ดีแค่ไหน เพราะมีทั้งประเทศที่เข้มแข็งจัดการปัญหาได้ และประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ โดยกลุ่มหลังหากมีการระบาด เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ใช้เวลาถึงจุดสูงสุดของการระบาดก็อยู่ที่ประมาณ 6-9 เดือน ซึ่งถ้ามีประเทศที่จัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เราก็จะเผชิญความเสี่ยงของคนที่เข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศให้ดีที่สุด เพราะเราอยากให้ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศ อยากยืดระยะเวลาเจอผู้ป่วยสัปดาห์ละไม่กี่คนออกไปให้นานที่สุด โดยจะจบตอนไหน ตอนนี้ยังตอบยาก
เมื่อถามถึงกรณีอินเดียพบผู้ป่วยหลังเดินทางกลับจากประเทศไทย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากการรายงานพบว่า เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑืสอบสวนโรค ยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ ไทยก็คงยังไม่ต้องมีการสอบสวนโรค
ถามถึงกรณีสถาบันบำราศนราดูร รับสมัครนักรังสีเพื่อรับมือกับโควิด-19 นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการประกาศรับสมัครงานของสถาบันบำราศนราดูรตามปกติ โดยรับสมัครนักรังสี เอกซเรย์ ไม่ได้ระบุกี่ตำแหน่ง มาร่วมงานกอบกู้โควิด-19 ด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นการรับอาสาสมัคร เพราะว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องกำลังคนบุคลากรเรามีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป แต่บางหน้าที่ที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็อาจหนักหน่อย เพราะหาคนหมุนเวียนยาก อย่างไรก้ตาม การดำเนินการในหลายๆ เรื่อง บทหลักไม่ใช่สาธารณสุข เช่น เรื่องการติดตามกักตัวของแรงงานนอกระบบ บทหลักคือกระทรวงมหาดไทยในการจัดเตรียมสถานที่ และติดตามมาดูแล ส่วนสาะารณสุขจะดูแลติดตามสุขภาพ และดูแลเมื่อป่วย เรียกว่าพระเอกกับเรื่องแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน