อภ.ยันเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไม่ขาดตลาดแน่ ผลิตเองได้เดือนละ 2 แสนหลอด บริษัทลูกอีก 2 แสนหลอด และยังมีบริษัทเอกชนอื่นๆ อีก ทั้งยังใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลได้ องค์การสุราผลิตได้วันละ 60 ตัน ขอประชาชนอย่ากังวลแล้วกักตุน เผยแจ้งตำรวจเอาผิดพวกขายโก่งราคาแล้ว หลังตรวจสอบพบ ส่วนหน้ากากอนามัยได้รับประมาณ 2 แสนชิ้นต่อวัน พร้อมหนุน รพ.ที่ขาด
วันนี้ (6 มี.ค.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ขณะนี้ยืนยันว่า ไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะ อภ. สามารถผลิตได้เดือนละ 2 แสนหลอด และมีบริษัทลูกส่งมาให้อีก 2 แสนหลอด รวมเป็น 4 แสนหลอดต่อเดือน และยังมีของบริษัทเอกชนรายอื่นๆ ที่ผลิตและขายอีก จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจได้เลยว่าไม่ขาดแน่นอน นอกจากเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแล้ว เรายังสามารถใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลมาฆ่าเชื้อได้เช่นกัน และในส่วนนี้องค์การสุราก็สามารถผลิตได้วันละ 60 ตัน ดังนั้น แอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อในประเทศไทยไม่มีขาดแน่นอน ไม่ต้องกังวลหรือกักตุน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 อภ.ก็มีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าตัวอยู่แล้ว
“เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อภ.ขายอยู่ที่ราคา 24 บาท แต่พบถูกนำไปโก่งราคาเป็น 50 บาท อภ.ได้มีการแจ้งกองกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดำเนินคดีแล้ว แต่อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามและน่ากลัวมาก คือ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือดังกล่าวอาจเป็นของปลอม เนื่องจาก อภ.ได้มีการกำชับร้านยาที่มีการส่งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือว่า ห้ามโก่งราคาเด็ดขาด” ผอ.อภ. กล่าว
เมื่อถามว่า ในยามภาวะปกติหน้ากากอนามัย อภ.มีการดำเนินการอย่างไร นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ปกติจะส่งตรงกันเอง เพราะมีสินค้าจากจีนเข้ามาขาย ส่วนของ อภ.นั้นจะได้มาจาก 4 บริษัทประมาณ 2 แสนชิ้นต่อวัน แต่จะเป็นการกระจายให้โรงพยาบาลรัฐ ส่วน รพ.เอกชน หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น สังกัดโรงเรียนแพทย์จะมีการซื้อตรงจากบริษัทกันอยู่แล้ว และตรงนี้กรมการค้าภายในต้องเป็นผู้จัดสรร อย่างไรก็ตาม หากจะให้ อภ.ดูแลทั้งหมดต้องได้หน้ากาก 4-5 แสนชิ้น ส่วนการกระจายของ อภ.ขณะนี้จะส่งตามจุดที่ขาดเลย นอกจากนี้ อยากให้ประชาชนมีการหันมาใช้หน้ากากผ้า เพราะใช้ได้ 150 ครั้งต่อหนึ่งผืน ซึ่งเรากำลังให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจสอบหน้ากากผ้าชนิดหนึ่ง ซึ่ง อภ.กำลังมีแนวคิดเอามาจำหน่าย ว่าปลอดภัยหรือไม่ หากปลอดภัยจะนำมาจำหน่ายทันที ทั้งยังมีแผนที่จะให้แต่ละกรมดำเนินการทำหน้ากากผ้า เช่น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มอบให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการเย็บหน้ากากผ้า เพราะถือเป็นการสร้างงานอีกด้วย