สธ.ประชุมร่วม 383 รพ.เอกชน เข้มแนวทางดูแลผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เหตุ 40% ผู้เข้าเกณฑ์มาจาก รพ.เอกชน ขอให้แยกคลินิกไข้หวัดเฉพาะ หากพบคนเสี่ยงให้รีบแจ้งกรมควบคุมโรค ห้ามผู้ป่วยเดินทางรักษาส่งต่อด้วยตัวเอง เล็งหาแล็บเพิ่มช่วย รพ.เอกชนตรวจเชื้อ "อนุทิน" ขอ อภ.จัดหาหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นให้ สธ.จัดสรรให้กลุ่มเสี่ยง
วันนี้ (6 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมชี้แจงแนวทางการวินิจฉัย การเฝ้าระวัง และการส่งต่อผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ร่วมกับผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการ และผู้ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 383 แห่ง จัดโดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่า การที่ประเทศจะผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งสถานพยาบาลภาคเอกชนนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สบส.จึงจัดประชุมขึ้น เพื่อให้ รพ.เอกชนทั้ง 383 แห่งมาร่วมรับฟังแนวทางปฏิบัติตั้งแต่การคัดกรอง เฝ้าระวัง ดูแลรักษา รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วย และตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรค และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการรับบริการจากสถานพยาบาล
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เตรียมใช้หลักอุปสงค์อุปทาน เพื่อลดความขาดแคลน หากมีการผลิตเพิ่มจนมากพอ ความต้องการก็ลดลง ความขาดแคลนก็ไม่มี การโก่งราคาก็ไม่พบ จึงได้สั่งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาเพิ่ม และให้นำหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้น มามอบให้กับ สธ. เพื่อนำมามอบให้กับผู้ขาดแคลน โดยจะมีการวางหลักเกณฑ์การแจกหน้ากากอนามัย เพื่อให้ได้เพียงพอในกลุ่มคนเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรยังไม่กำหนด
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า ที่ต้องหารือร่วมกับ รพ.เอกชน เพราะผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 40% มาจาก รพ.เอกชน ซึ่งขณะนี้มีแนวคิดให้ รพ.เอกชนแยกห้องตรวจไข้หวัดออกจากห้องตรวจโรคอื่นๆ เพื่อป้องกันการปะปน และเป็นส่วนตัวในการคัดกรองโรค พร้อมเพิ่มห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจยืนยันเชื้อให้ รพ.เอกชน จากเดิมมีแค่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็จะเพิ่ม รพ.รัฐ สังกัดมหาวิทยาลัย 1 แห่ง หรือดึงความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการเอกชนที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมาร่วมตรวจ แต่ต้องย้ำเรื่องของข้อมูลผู้ป่วย ว่าจะต้องไม่เปิดเผย การรายงานต้องให้ สธ.เท่านั้น ส่วนการตรวจเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ ขอให้เน้นคนไทยกลุ่มเสี่ยงเพิ่ม ไม่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นในกลุ่มผู้ที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดคนต่างชาติ หรือทำงานระบบขนส่งด้วย เพื่อการเฝ้าระวังที่ครอบคลุม
"ขอเน้นย้ำกับสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง หากมีการพบผู้ป่วยต้องสงสัยและเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวัง ขอให้รีบแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ทันที ทั้งนี้ เพื่อให้การดูแลเป็นไปตามมาตรฐาน และหากจำเป็นต้องมีการส่งต่อขอให้รีบแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรคเพื่อส่งต่อ โดยไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษาต่อด้วยตนเอง" นพ.ธเรศ กล่าว