xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกจีนต้องรู้! ม.กรุงเทพ ประสานมือ CLT และ C.C.I.C ถอดรหัสเลาะทางลัดสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อาจทำให้การค้าระหว่างจีนกับนานาประเทศทั่วโลกชะลอตัว แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะผลจากการปิดบางมณฑลในประเทศชั่วคราวนั้น ทำให้ทันทีที่จีนเปิดประเทศอย่างเต็มที่อีกครั้ง demand การนำเข้าจากต่างประเทศย่อมจะสูงขึ้น เพื่อนำสินค้าต่างๆ ไปทดแทนการขาดแคลนในช่วงที่ปิดประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของนักธุรกิจชาวไทยในการลุยตลาดจีนอีกครั้ง

แต่นักธุรกิจทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าที่คิดจะทำการค้ากับประเทศจีนอาจไม่ทันรู้ว่าการส่งออกสินค้าไปยังจีนมีขั้นตอนเฉพาะทางที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบกระบวนการผลิต ข้อกฎหมายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่จำเป็นต้องได้มาตรฐานเพื่อการจัดจำหน่ายอย่างทั่วถึงและกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้น อาจพบปัญหาหรือไม่ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังจีน


เดิมทีก่อนจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศจีน สินค้าไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานด้านคุณภาพสินค้ากับห้องปฏิบัติการในไทยก่อน บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัดหรือ Central Lab Thai(CLT) ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้จัดตั้ง CLT ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออกแต่แม้ว่าสินค้าจะผ่านมาตรฐานของไทยแล้ว ก็ยังต้องส่งไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพกับ ซี ซี ไอ ซี กรุ๊ป (C.C.I.C Group) อันเป็นหน่วยงานภาครัฐภายใต้กรมศุลกากรของจีน ณ ประเทศจีนด้วยซึ่งปัจจุบันได้เปิดสาขาเพื่อดำเนินงานอำนวยความสะดวกในไทยภายใต้ชื่อว่า บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด


ดังนั้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, CLT และ C.C.I.C จึงจับมือกันจัดเสวนาในหัวข้อ “พลิกวิกฤตสู่โอกาส เตรียมความพร้อมไปจีน (หลังปลดล็อก COVID-19)” พร้อมทั้งเซ็น MoU ร่วมกัน ซึ่งข้อตกลงในMoU ฉบับนี้ คือ ทั้งสามฝ่ายจะประสานงานและศึกษามาตรฐานเพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าทั้งฝั่งไทยและจีนลง ถ้ามีมาตรฐานข้อใดทับซ้อนกันอยู่ ก็จะตรวจสอบเพียงครั้งเดียวโดยใช้มาตรฐานที่ต่างยอมรับร่วมกันได้อันจะส่งผลให้การตรวจสอบมีความชัดเจน ลดขั้นตอน กระชับเวลา และเอื้ออำนวยการส่งออกของไทยให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการยืนยันความเชื่อมั่นต่อแหล่งผลิตสินค้าที่มาจากประเทศไทยด้วย


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำทีมโดย ผศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ อันเป็นสายงานที่มีพันธกิจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในฐานะ Lifelong Learning Center และดร.นิธิวดี จรรยาสวัสดิ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีนและหัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นธุรกิจจีน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนในทุกมิติ จะเป็นผู้ถอดรหัสความรู้ด้านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกจีนออกมาเป็นหลักสูตรสั้น (Short Course) สำหรับนักธุรกิจทั่วไป รวมทั้งผนวกไว้ในเนื้อหาวิชาสำหรับนักศึกษาสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นธุรกิจจีน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


ดร.วิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจประเมินและรับรองระบบบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกว่า โดยปกติการตรวจสอบคุณภาพสินค้านั้นต้องใช้มาตรฐานสากลระหว่างประเทศอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศปลายทางก็มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่นประเทศจีนซึ่งมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรายละเอียดโภชนาการ ข้อความ หรือแม้แต่สีที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์แตกต่างจากประเทศอื่น


ทางด้าน ดร.นิธิวดี จรรยาสวัสดิ์ ได้กล่าวเสริมว่า “แต่เดิมทางฝั่งไทยจะตรวจสอบแบบหนึ่ง แล้วต้องส่งไปตรวจตามมาตรฐานจีนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการนี้นักธุรกิจส่วนใหญ่จะขาดข้อมูลเชิงปฏิบัติการ และที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดให้ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการเตรียมตัวสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปตลาดจีนอย่างชัดเจนจนทำให้เกิดความสับสนและเพิ่มต้นทุนต่อผู้ประกอบการ จนกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ การทำความร่วมมือกันทั้งสามฝ่ายครั้งนี้จึงจะทำให้เห็นกระบวนการและมุมมองทางการตลาดของจีนที่ถูกต้อง โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพจะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้ทั้งนักธุรกิจและนักศึกษาต่อไป”

การให้ความรู้แก่นักธุรกิจผู้เรียน Short Course และนักศึกษาผู้เป็นว่าที่นักธุรกิจจากสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (มุ่งเน้นธุรกิจจีน) มหาวิทยาลัยกรุงเทพเพื่อนำไปใช้พัฒนาสินค้าให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของCLT และ C.C.I.C นั้น จึงนับเป็นการประสานความร่วมมือถอดรหัสเลาะทางลัดไปสู่ความสำเร็จในการทำการค้ากับจีนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น