กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA เล็งเห็นความสำคัญธุรกิจความงามสุขภาพ ดันผู้ประกอบการลุยตลาดออนไลน์ผ่าน Big Data และ Ai หวังส่งออกในปี 2020 พร้อมเปิดแผนกลยุทธ์ทำการตลาดออนไลน์เพื่อส่งเสริมการขยายตลาดและปั้นแบรนด์สินค้าให้เติบโตในระดับนานาชาติ
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ พร้อมมุ่งผลักดันให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ พร้อมที่จะสร้างตลาดใหม่ๆ ได้ในหลายๆ ประเทศ
ทั้งนี้ จึงได้จัดสัมมนา “Empowering World Class Health & Beauty Product” เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งจับทิศทางธุรกิจปี 2020 กลยุทธ์ทางการตลาด การทำตลาดออนไลน์ในยุค Digital Disruption และการนำเอา Big Data Analytic และ Design Thinking มาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจในผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งแก้ไข Pain point ของธุรกิจดังกล่าวให้มีความทัดเทียมกับประเทศชั้นนำ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
สำหรับโครงการ “Empowering World Class Health & Beauty Product” จัดทัพธุรกิจสุขภาพและความงามไทยสู่ตลาดโลกนั้น เป็นการจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยมีจุดขายตรงวัตถุดิบและส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ สมุนไพร และมีงานวิจัยรองรับที่เป็นตัวยืนยัน การผลิตได้มาตรฐาน ความเชื่อมั่นปลอดภัย ประกอบกับในปัจจุบันช่องทางการตลาดออนไลน์สามารถช่วยลดต้นทุนการตลาด สื่อสารข้อมูลข่าวสารถึงลูกค้าและผู้บริโภคได้โดยตรงและจำนวนมาก และระบบขนส่ง Logistic ที่มีความทันสมัยเชื่อมโยงทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เข้าถึงตลาดทั่วโลก
งานดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมากมายที่มาช่วยให้ความรู้และพัฒนาธุรกิจสุขภาพความงามของไทย เช่น นายพัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท Ireal Plus (Thailand) Co., Ltd. คุณรณกร แซ่ลี้ ผู้บริหาร บริษัท แอนนา เบลล่า จำกัด คุณศิรินทรา เส็งสิน Co-CEO ( OHO Group) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กลุ่มบริษัทโอ้โห นายธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์ CEO บริษัท เดอะ สปริงบ๊อกซ์ จำกัด คุณธันย์ธรณ์ บุญจิรกิตติ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮปปี้ฟอร์เอฟเวอร์ กรุ๊ป จำกัด และคุณศุภเจตน์ ตระการศิริวานิช บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ “เทคนิคในการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดจีน” เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้มีความใส่ใจสุขภาพ ความสวยความงาม และการดูแลสุขภาพผิว และยังทำให้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนขยายขนาดอย่างต่อเนื่อง โดยยังได้ให้ความรู้ในเรื่องมาตรฐานของสินค้า เพราะผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้มีการประกาศให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางช่วยควบคุมพฤติกรรมของผู้ผลิตและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนก่อนว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายชอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทใด ลักษณะใด เพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาสินค้าให้ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีนได้ รวมทั้งดำเนินการติดต่อทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า เพื่อความสะดวกในการติดต่อขอเอกสารกับหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจให้แก่บริษัทคู่ค้าชาวจีน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจส่งออกที่ดี มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเครื่องสำอางที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในจีนได้นั้น สินค้าทุกชิ้นจำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการและตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มงวด การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพเครื่องสำอางจากหน่วยงาน SFDA, ศุลกากร และ CIQ ที่ตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ทั้งเรื่องฉลากสินค้า ขนาด และปริมาณ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพความงามถือเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10% ติดต่อกันหลายปี โดยในปี 2019 ที่ผ่านมาธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% หรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40% หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท (การเติบโตดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 1,800 ราย) ซึ่งยังไม่นับรวมถึงธุรกิจอาหารเสริมซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6.67 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเสริมความงาม อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค และอาหารเสริมสมรรถภาพร่างกาย
นอกจากนี้ หากมองถึงภาพรวมตลาดโลก มูลค่าของตลาดสินค้าความงามอยู่ที่ประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยครองอันดับที่ 17 ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงามไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและปั้นแบรนด์สินค้าของตนให้เติบโตเข้าสู่ตลาดโลก แต่ต้องรู้จักปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงและต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายพัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท Ireal Plus (Thailand) Co., Ltd. หนึ่งในวิทยากรผู้บรรยายเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มของธุรกิจความงามปี 2020 ว่า ไอเรียลพลัสเป็นบริษัทผู้รับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมแบบครบวงจร (OEM,ODM) ให้กับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ด้วยการสร้างฐานการผลิตเครื่องสำอางที่มีความเข้มแข็ง มีกำลังการผลิต 5 ตันต่อวัน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยล่าสุดจากประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่น และสารสกัดธรรมชาติที่มีมาตรฐานและผ่านการวิจัยจากห้องแล็บของบริษัทชั้นนำทั่วทุกมุมโลก มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล
ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทางภาครัฐ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ที่เป็นส่วนผลักดันให้บริษัทได้เป็นที่รู้จักในสายตาของชาวโลก วันนี้บริษัทเราจึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อส่งต่อความสำเร็จให้แก่ผู้ประกอบการแบรนด์ไทยรายอื่นๆ ให้ก้าวไกลในตลาดโลกได้อย่างประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *