xs
xsm
sm
md
lg

3 ปัจจัยทำคุม “โควิด-19” ไม่ได้ “กลับพื้นที่เสี่ยงไม่กักตัว-คนรอบข้างไม่ช่วยป้องกัน-ตีตรา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย 3 ปัจจัยทำควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ได้ หากไปพื้นที่เสี่ยงไม่กักตัว คนรอบข้างไม่ร่วมมือช่วยป้องกัน และแสดงอาการรังเกียจ ทำให้ถูกตีตรา ยิ่งปกปิดข้อมูล ย้ำคนเสี่ยงติดโรคต้องมีความรับผิดชอบตนเอง ครอบครัว และสังคม จะช่วยลดการแพร่เชื้อได้ เข้าสู่ระยะ 3 ช้าลง

วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 มี 6 ประเด็น คือ 1. ไทยยังอยู่ระยะที่ 2 คือ เจอผู้ป่วยต่างชาติและคนไทยที่ติดโรคจากต่างประเทศ และในประเทศแบบวงจำกัด 2. ผู้ป่วยกลับจากประเทศเสี่ยง เราจึงพยายามสื่อสารให้ประชาชนงดเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทาง เพราะชัดเจนว่าการไปพื้นที่เสี่ยงมีโอกาสติดโรคกลับมา 3. เมื่อกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ เพราะหากติดโรคมาก็จะติดเฉพาะคนคนนั้น จะไม่ติดไปคนอื่น หรือลดการติดเชื้อ 4. บางรายมีอาการแล้วรีบมา บางรายไม่รีบมา ทำให้มีความแตกต่างของอาการ 5. อย่าปกปิดข้อมูล ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไม่เข้าใจ แตกตื่นเกินไป แสดงความรังเกียจ หรือตีตรา ทำให้คนถูกเลือกปฏิบัติอาจปกปิดข้อมูล หรือทำอะไรที่เป็นผลเสียต่อคนรอบข้าง และ 6. บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ต้องยึดถือปฏิบัติเรื่องการป้องกันตนเอง ต่อให้พบผู้ป่วยก็จะไม่มีปัญหาความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และบุคคลรอบข้าง คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานใกล้ชิด ต้องปฏิบัติวิธีป้องกันตัวร่วมกับคนที่กลับมาจากต่างประเทศด้วย

“ถ้าปฏิบัติอย่างรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว คนในสังคม เหตุการณ์ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าจะลดลง แม้เข้าระยะถัดไป สถานการณ์ก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ไปพื้นที่เสี่ยงไม่ปฏิบัติตัว คนรอบข้างไม่ร่วมมือ แสดงอาการรังเกียจ คือปัจจัยทำให้คุมโรคไม่ได้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว และว่า โรคโควิด-19 เรารักษาหาย ซึ่งจากข้อมูลตอนนี้ป่วย 41 ราย รักษาหาย 28 ราย มีอาการรุนแรง 2 ราย ถือว่าอาการรุนแรงก็ต่ำกว่า 5% จึงอยากย้ำว่า คนต่อให้ป่วยโรคนี้ก็จะไม่ได้เป็นมากมาย เป้นรุนแรงในระดับหนึ่ง ทำไมต้องไปตื่นตระหนกรังเกียจมากเกินไป สำหรับเรื่องกลับมาจากประเทศเสี่ยงแล้วควรกักตัวเอง 14 วันนั้น ตรงนี้เชื่อว่าสังคมไทยและทุกคนจะเรียนรู้ ทุกคนต้องมีสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หรือครอบครัวตัวเอง ถ้าคิดว่าตัวเองเสี่ยงก็ต้องแยกออกมา แต่บริบทแต่ละคนอาจต่างกันไป เราถึงใช้คำว่าแนะนำ เพราะต่อให้กฎหมายดีแค่ไหน การบังคับใช้ส่วนสำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรากำลังสู้กับวิกฤต การข้ามผ่านวิกฤตนี้ไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ทุกคนต้องร่วมกัน โดยเฉพาะประชาชน ทั้งนี้ ในส่วนบุคคลนั้น อยากให้คนไทยทุกคนหรือมาเมืองไทยทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่าคิดว่าเราเป็นคนเดียวแล้วจะจัดการตัวเองได้ เพราะเป็นโรคติดต่ออันตรายซึ่งมีผลกระทบต่อคนอื่น ทุกคนต้องบอกข้อเท็จจริง ส่วนในระดับสังคมควรช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน คือ 1. สอดส่องมองหา ถ้าเราทราบว่าคนนี้เพิ่งกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง เราอาจช่วยบอกว่าควรจะต้องกักตัวเฝ้าระวังตัวเอง เพราะกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีทางรู้ทั้งหมดว่าใครไปไหนมา เพื่อนบ้านก็อาจต้องช่วยเตือน 2. ใส่ใจดูแล อย่าไปบริภาษเพราะไม่รู้ว่าเขาป่วยหรือไม่ หากป่วยก็เป็นคนไทยที่ต้องช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งตนก็เห็นภาพที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียที่มีการเอาข้าวไปแขวนที่หน้าบ้านคนที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ก็ถือว่าเป้นการช่วยให้เขาได้กินข้าวอยู่บ้าน รวมถึงอาจให้คำแนะนำต่างๆ 3. ถ้ารู้สึกว่าเป็นไข้ก็ต้องส่งต่อเพื่อที่จะดูแลต่อไป และคิดว่าพวกเราจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น