4 หน่วยงาน MOU เพื่อพัฒนาศักยภาพครู 6.6 หมื่นคน นำความรู้ถ่ายทอดให้นักเรียน ด้านคุณหญิงกัลยา แนะครูอย่าสอนวิชาการอย่างเดียว ให้หาวิธีจูงใจเด็กตั้งใจเรียน
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออบรมครูด้วยระบบทางไกล “โครงการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพ ด้วยการจัดประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา” โดยมีตัวแทนลงนาม 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกคร้องท้องถิ่น, ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสะเต็มศึกษา ในโรงเรียนทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งพัฒนานักเรียนไทยให้มีสมรรถนะที่ดี มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นสำคัญ ให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณและชื่นชมผู้บริหารของทุกหน่วยงาน และคณะทำงาน ที่ร่วมมือร่วมใจ จัดให้มีการอบรมครูด้วยระบบทางไกล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะสามารถทำให้ครูพี่เลี้ยงและครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรมจากทุกหน่วยงาน มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“หวังว่า 3 ปี ครูทุกคนในประเทศ จะมีความรู้ที่ได้มาตรฐานในระดับเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งคือ ครูไม่ใช่แค่สอนวิชาการเพียงอย่างเดียว ต้องสอดแทรกกิจกรรมนันทนาการเพื่อจูงใจให้ผู้เรียนมีความสนใจและใส่ใจที่จะเรียนรู้เพิ่มขึ้น สมัยนี้เป็นครูเพียงอย่างเดียวไม่พอ ครูต้องเป็น Entertainer ด้วย”
ด้าน ศ.ชูกิจ กล่าวว่า สสวท. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาสื่อการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จำเป็นต้องให้ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการต่าง ๆ ของมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด
"สสวท.ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ จัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยระบบทางไกลผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Channel) เพื่อให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานหลักสูตรและตัวชี้วัดวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งวิธีจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาของตนเอง หรือสถานศึกษาอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
อนึ่ง หลักสูตรการอบรมครูด้วยระบบทางไกลจะดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี ในแต่ละปีจะแยกการอบรมเป็น 2 ช่วง ระยะแรก เป็นการอบรมครูพี่เลี้ยง และระยะที่สอง เป็นการอบรมครูผู้สอน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ระหว่างเดือน มี.ค.- พ.ค. ซึ่งมีโรงเรียนร่วมเป็นศูนย์ฝึกการอบรมครูทั้งสิ้น 681 ศูนย์ทั่วประเทศ คาดว่าจะมีครูเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ 66,000 คน