อาจารย์ นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่รับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม พัฒนา ‘ผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว’ ผลักดันธุรกิจอุตสาหกรรมสีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีคนไทย
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ต่อยอดองค์ความรู้จากการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม หรือโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชนและโครงการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ (Talent Mobility) นำโดย ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ และ ผศ.ดร.ฉันท์ทิพ สกุลเขมฤทัย นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่รับโจทย์ปัญหาจริงจากภาคอุตสาหกรรมกับบริษัท ไทยนครเพนท์แอนด์เคมีคอล จำกัด วิจัยและพัฒนาในโครงการ ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว’ โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 2 คน คือนายกมลทรรศน์ เวชกรณ์ และนายณัฏฐพัฒน์ ชฎาจิตร ซึ่งดำเนินการสำเร็จแล้วกว่า 90% ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานและจัดจำหน่ายต่อไปในอนาคตอันใกล้ และจากความสำเร็จดังกล่าวนี้ยังเป็นการผลักดันธุรกิจอุตสาหกรรมสีของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุน ที่เกิดประโยชน์ต่อบริษัท สถานประกอบการต่าง ๆ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีของนักวิจัยไทยในมหาวิทยาลัยร่วมกับนักวิจัยของผู้ประกอบการไทย โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำงานร่วมและวิเคราะห์กับทางบริษัท พบว่า ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการป้องกันอัคคีภัยต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน อาคารพาณิชย์ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม นั่นคือสารเคลือบผิวอินทูเมสเซนต์ประเภทสีกันไฟชนิดพองตัว ซึ่งสามารถสรุปปัญหาและโจทย์วิจัยคือ ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีในการสังเคราะห์วัสดุนาโน และปัญหาการขยายตัวของสารเคลือบผิวอินทูเมสเซนต์ประเภทสีกันไฟชนิดพองตัวที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการเป็นชั้นฉนวนป้องกันความร้อนที่ส่งผ่านสู่เหล็กโครงสร้างไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดช้าลง จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จึงมีแนวความคิดเห็นร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุนาโนเพื่อนำมาใช้เพิ่มอัตราการขยายตัวของสีกันไฟชนิดพองตัว และเกิดเป็นโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว
ผศ.ดร.สรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว ทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันไฟ ยกตัวอย่างเมื่อนำไปใช้ทาโครงสร้างเหล็ก จะป้องกันความร้อนที่ส่งผ่านสู่เหล็กโครงสร้างไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดช้าลงในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งอาจช่วยส่งผลต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยใช้วัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ และได้ทำการทดสอบสมบัติการทนไฟตามมาตรฐานสากล ทดสอบการขยายตัว อนุภาคพื้นผิวและทดลองนำไปใช้งานเบื้องต้น ซึ่งมีผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และเตรียมผลักดันร่วมกับบริษัทเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตอันใกล้
“ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทหรือสถานประกอบการได้กระบวนการผลิตวัสดุนาโน เพื่อวางแผนการผลิตสีนาโนและสีกันไฟชนิดพองตัว สามารถรองรับการขยายตัวของบริษัทในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังลดการนำเข้าวัสดุนาโนเชิงพาณิชย์จากต่างประเทศ และที่สำคัญอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาได้ร่วมปฏิบัติงานจริง ซึ่งทำให้เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานทักษะที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ”
ขณะที่ นายภูมิภัทร์ ตรรกสกุลวิทย์ กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทยนครเพนท์แอนด์เคมีคอล จำกัด กล่าวว่า ไทยนครเพนท์แอนด์เคมีคอล เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมสีของคนไทย ซึ่งมีการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพ การที่ทีมอาจารย์และนักศึกษาจาก มทร.ธัญบุรี ได้เข้ามามีส่วนร่วมดังกล่าว ซึ่งมีฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากบริษัทเป็นแกนหลัก นำโดย นายประสาน ไชยแสนฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้บริษัทมีแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาความรู้ร่วมกันในเรื่องวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ หวังว่าในอนาคตจะได้รับความร่วมมือที่ดีในด้านการวิจัยและพัฒนาเช่นนี้ต่อไป