สบส.เร่งตรวจสอบคดีอุ้มบุญข้ามชาติ หลังพบสถานพยาบาลเกี่ยวข้อง 9 แห่ง แพทย์ 4 คน พร้อมเร่งส่งตรวจดีเอ็นเอ เด็ก 2 คน เกิดโดยการอุ้มบุญหรือไม่ มั่นใจกระบวนการเกี่ยวโยงคดีลอบขนอสุจิ หวั่นค้ามนุษย์ส่งเด็ก 8 ขวบไปต่างชาติ
วันนี้ (19 ก.พ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความคืบหน้าคดีอุ้มบุญข้ามชาติ ว่า สบส.กำลังดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สถานพยาบาล ขณะนี้มีข้อมูลเบื้องต้นจากแม่อุ้มบุญว่า มีสถานพยาบาลเกี่ยวข้อง 9 แห่งอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ แบ่งเป็นโรงพยาบาล 4 และคลินิก 5 แห่ง โดยจำนวนนี้มี 6 แห่งทั้งโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้รับการรับรองให้ดำเนินการเรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ ส่วนอีก 3 แห่งไม่เคยขออนุญาตดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีความเกี่ยวข้องกระบวนการจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ดูแลด้านสูตินรีเวชทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยทั้งประจักษ์พยานและหลักฐานต่างๆ ร่วมกับตำรวจสอบสวน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า 2.ประสานการตรวจสอบคนรับจ้างตั้งครรภ์ทั้ง 7 ราย ว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็อาจเกี่ยวข้องกับการรับตั้งครรภ์แทน และประสานการตรวจดีเอ็นเอของเด็กที่พบในที่เกิดเหตุจำนวน 2 ราย ว่ามีดีเอ็นเอตรงกับหญิงที่คลอดออกมาหรือไม่ หากไม่ตรงก็บ่งบอกได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์หรือแม่อุ้มบุญ และ 3.กรณีพบยาอยู่ที่บ้านผู้ต้องหา พบว่า เป็นยาแผนปัจจุบันกระตุ้นฮอร์โมนที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ยาแผนโบราณกระตุ้นฮอร์โมน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 3 พันบาท และพบเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวกับการทำการผสมไข่และสเปิร์มภายนอก ก็จะโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังได้รับข้อมูลจากแม่อุ้มบุญว่า มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวข้อง 4 ท่าน ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบแพทย์ทั้ง 4 ท่านว่า มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ได้รับการอนุญาตให้ทำเรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หรือไม่
เมื่อถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกรณีการขนส่งอสุจิข้ามชาติหรือไม่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องสืบเนื่องกัน โดยก่อนหน้านั้นการลักลอบขนอสุจิหรือซื้อไข่ออกจากประเทศเรา ก็เปลี่ยนวิธีการ โดยเอาไข่หรืออสุจิจากประเทศไหนก็ตาม ประเด็นคือมาเอาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญของเราไปทำที่ต่างประเทศแทน ในการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกหญิงไทย แล้วหญิงไทยกลับมาไทย ถือว่าต่อยอดกัน เป็นการใช้แพทย์เรา วิชาการเรา อาจใช้เทคโนโลยีเราร่วมด้วย แล้วกลับมาฝากครรภ์เมืองไทย
ทพ.อาคม กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.2558 สามารถเอาผิดกฎหมายได้ตั้งแต่นายทุนต่างชาติ หญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ นายหน้าที่โฆษณา รวมถึงแพทย์ผู้ที่ดำเนินการ คือ ผู้ดำเนินการตั้งครรภ์โดยไม่ขออนุญาต คือ แพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ส่วนผู้ร่วมกระบวนการเพื่อประโยชน์ทางการค้า คิดว่าสำคัญมาก เพราะเด็กที่เอาไปต่างชาติ ช่วงอายุ 8 ขวบอวัยวะพร้อมใช้แล้ว มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนคนที่เป็นนายหน้าโฆษณาก็มีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ