แพทบสภาเร่งขอข้อมุลมี "หมอ" เกี่ยวขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติหรือไม่ หากมีจะตั้งกก.สอบสวนจริยธรรม เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน สมรู้ร่วมคิดหรือไม่ ความผิดและโทษจะต่างกันไปตามพฤติกรรม หากจงใจเจตนามีผลประโยชน์ อาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนรับฝากครรภ์ต้องสอบสวนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะปกติไม่ได้มีการสอบถามว่าเป็นการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอะไร
วันนี้ (13 ก.พ.) พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจับกุมขบวนการรับจ้างอุ้มบุญข้ามชาติ โดยนำหญิงรับจ้างตั้งครรภ์ไปฝังตัวอ่อนที่ลาวและกัมพูชา และพากลับมาฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ประเทศไทยหรือประเทศจีน ว่า เรื่องนี้แพทยสภาเพิ่งได้รับทราบ อยู่ระหว่างการขอข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งดูแลเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ ว่ามีแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทราบว่าเป็นการไปดำเนินการที่ต่างประเทศ จึงต้องขอข้อมูลก่อนว่า มีแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ หากมีแพทย์เกี่ยวข้องจริง เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และจะใช้กฎหมายข้อไหนเข้าไปดำเนินการได้บ้าง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรม ซึ่งการเอาผิดก็มีตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือถึงขั้นเพิกถอน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความเกี่ยวข้อง เช่น สมัยก่อนที่จะมีกฎหมายอุ้มบุญจะออกมา ก็เคยมีกรณีเพิกถอนใบอนุญาต 1 ราย เพราะจงใจเจตนามีผลประโยชน์ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีเรื่องของคดีอาญาด้วย ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่า
เมื่อถามว่าแม้จะเป็นการทำอุ้มบุญที่ต่างประเทศ หากมีแพทย์เกี่ยวข้องให้คำแนะนำไปทำ ถือว่าผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยหรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าต้องขอดูข้อมูลก่อน ว่าแพทย์อยู่ในกระบวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่เมื่อเป็นผู้ร่วมมือสนับสนุนก็ถือว่าไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ต้องขอดูรายละเอียดก่อน
ถามต่อว่า การตั้งครรภ์ต้องมีแพทย์ที่ดูแลฝากครรภ์ แพทย์ที่ดูแลการฝากครรภ์ของการอุ้มบุญข้ามชาติก้มีความผิดหรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องสอบสวนให้ชัดเจน เพราะธรรมชาติการไปฝากครรภ์ ก็ไม่ได้มีการบอกว่า ผู้ใดทำให้เกิดการท้อง หรือการท้องนั้นเกิดโดยวิธีธรรมชาติหรืออาศัยเทคโนโลยีทำให้เกิด ซึ่งแพทยืก็อาจไม่รู้ เพราะไม่ได้บอกว่าไปทำอุ้มบุญมา ก็ดูแลฝากครรภ์ทำคลอดไป ดังนั้น ต้องมาสอบสวนดูว่า แพทย์รู้มากรู้น้อยแค่ไหน หรือมีส่วนร่วมในขบวนการ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจต้องมาพิจารณากันว่า ต้องมีเกณฑ์มากขึ้นหรือไม่
ถามถึงกรณีการเอาผิดเรื่องอุ้มบุญที่ผ่านมามีมากน้อยแค่ไหน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายอุ้มบุญก็มีการเอาผิดแพทย์อยู่บ้าง โดยเคยมีรายที่เพิกถอนใบอนุญาตไป 1 ราย พักใช้ใบอนุญาตไป 1 ราย และขณะนี้แพทยสภากำลังดำเนินการอีก 5 ราย โดยอยู่ในกระบวนการ 2 รายที่กำลังแล้วเสร็จ แต่ทั้งหมดเป็นช่วงก่อนเกิดกฎหมาย แต่หลังจากมีกฎหมายแล้วคดีอุ้มบุญน้อยมาก เพราะกฎหมายที่โทษและมีความครอบคลุม จึงเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการไปทำในต่างประเทศทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นคดีที่ทำด้วยความลำบาก เพราะเป็นการสมยอม ทั้งหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ ทีมที่ทำ และนายหน้า การสืบทราบแต่ละคดีไม่ง่าย เพราะผู้เสียหายแท้จริงไม่มี ไม่เหมือนคดีฟ้องร้องทางการแพทย์