แพทย์เชี่ยวชาญ เผยใช้ภูมิคุ้มกันจากคนขับแท็กซี่หายป่วยไวรัสโคโรนา ให้ผู้ป่วยอาการหนัก 2 รายแล้ว รอลุ้นผล 48 ชม. ชี้ดีกว่าให้ยา เป็นแนวทางรักษามาตั้งแต่สมัยโรคซาร์สและอีโบลา ชี้ภูมิจะขึ้นดีที่สุดหลังเริ่มป่วย 4 สัปดาห์ ต้องรอคนหายป่วยเพิ่ม ส่วนวัคซีนป้องกันต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไทยผลิตเองไม่ได้ หากต่างชาติจะขอเชื้อทำวิจัย ต้องทำเอ็มโอยูป้องกันถูกเอากลับมาขายราคาแพง
วันนี้ (10 ก.พ.) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีคนขับแท็กซี่ที่หายป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้วเกิดภูมิคุ้มกัน โดยมีการมาบริจาคเลือดเพื่อนำภูมิคุ้มกันไปใช้ประโยชน์ในการรักษา ว่า จากโรคเก่าที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อคนที่หายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันขึ้น แต่จะมีภูมิขึ้นชัดเจนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มป่วย แต่ถ้าดีที่สุดคือประมาณ 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน เพราะหากหลังจากนี้ภูมิคุ้มกันก็อาจจะค่อยๆ ลดลงไปอย่างช้าๆ โดยเอาเลือดมาแล้วสกัดเอาน้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ซึ่งถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดีกว่ายา เพราะภูมิคุ้มกันก็จะเข้าไปจับเชื้อโรคเลย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็เอามาจากสมัยโรคซาร์ส ที่ใครป่วยแล้วรอดตายแล้วก็ขอเลือดมาใช้รักษา รวมถึงสมัยอีโบลาที่มีแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งติดเชื้อ และได้รับเลือดจากเด็กชายชาวแอฟริกันรายหนึ่งที่หายจากโรคอีโบลาแล้ว เป็นต้น
"ในขณะที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มียา ภูมิคุ้มกันในคนที่หายแล้ว ก็เหมือนยา ยิ่งกว่ายา โดยเชื่อว่าขณะนี้จีนกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งมีจีนมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจำนวนมากเป็นพันคนก็สามารถเลือกได้ว่า จะเอาเลือดของคนไหนมาใช้ สำหรับประเทศไทยตอนนี้มีแค่คนขับแท็กซี่คนเดียว เพราะที่เหลือเป็นคนจีนกลับประเทศไปแล้ว ส่วนรายนครปฐมเป็นหญิงสูงอายุ ซึ่งไม่สามารถเข้าหลักเกณฑ์การบริจาคเลือดได้ เพราะเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวคือหัวใจด้วย จึงเหลือเพียงคนขับแท็กซี่ ที่เป็นคนหนุ่มอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี และมีสุขภาพแข็งแรงพอ โดยเลือดที่ใช้ก็จะใช้ปริมาณเหมือนกับการบริจาคเลือดตามปกติทั่วไป ส่วนต่อไปหากมีคนหายเพิ่มก็อาจต้องขอนำมาภูมิคุ้มกันมาใช้ศึกษา" นพ.ทวีกล่าว
นพ.ทวีกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เลือดของผู้ป่วยที่หายดีแล้วที่จะเอามาใช้ เดิมต้องดูว่ากรุ๊ปเลือดตรงกันหรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่สำคัญ เพราะสามารถเอากรุ๊ปเลือดออกได้ ให้เหลือเฉพาะภูมิคุ้มกัน แต่จะต้องพิจารณาว่ามีเชื้อพาหะอื่นอีกหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี และเอชไอวี เป็นต้น หากมีก็ไม่สามารถใช้ได้ ทั้งนี้ แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีคนเดียวคือรายแท็กซี่ที่หาย แต่เราก็อยากลอง โดยขณะนี้ได้นำมาให้คนไข้หนัก 2 คนแล้ว คือ รายที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมและรายอายุ 30 กว่าปีที่มีอาการค่อนข้างหนัก โดยต้องรอผลใน 48 ชั่วโมง สำหรับการให้ก็คงเลือกให้ในคนไข้ที่มีอาการปานกลางถึงหนัก มากกว่าที่จะให้คนไข้ธรรมดา ก็เหมือนกรณีการให้ยาต้านไวรัสที่ให้ในรายที่อาการหนัก แต่หากมีอาการหนักมากก็จะไม่ให้ เพราะให้ไปแล้วหากอาการแย่ลงก็จะไปโทษว่ายาไม่ได้ผล ส่วนภูมิคุ้มกันนี้เอาไปทำวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ได้ เพราะวัคซีนต้องทำจากเชื้อ
นพ.ทวี กล่าวว่า การผลิตวัคซีนป้องกันในกลุ่มเชื้อไวรัสโคโรนานั้น มีการทำมาตั้งแต่สมัยโรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีที่แล้ว แต่โรคกลับสงบก่อน ก็ไม่ได้มีการทำต่อเก็บเข้าลิ้นชัก ส่วนโรคเมอร์สมีปัญหาหลักๆ มากที่สุดอยู่ที่ซาอุดิอาระเบียก็มีพัฒนาเช่นกัน สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็มีการเอาพิมพ์เขียวของเก่าออกมาเริ่มทำ เพราะเป็นเชื้อโคโรนาเช่นกัน โดยประเทศที่มีเทคโนโลยีระดับสูงก็ต้องการเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปพัฒนาต่อ โดยขอเชื้อจากจีนบ้าง จากไทยบ้าง แต่การจะให้เชื้อไปเลยก็คงไม่ได้ เพราะหากให้ไปแล้วพัฒนาเป็นวัคซีนสำเร็จแล้วเอากลับมาขายเราเข็มละแพงๆ เป็นหลักพันบาทก็คงไม่ได้ อาจเอาเปรียบกันเกินไป มองว่าผู้บริหารประเทศอาจจะต้องมีการทำเอ็มโอยูร่วมกันก่อนหรือไม่ ว่าหากให้ไปแล้วเมื่อพัฒนาสำเร็จจะตอบแทนเราที่เป็นเจ้าของเชื้ออย่างไร เช่น อาจจะลดราคาลง 10 เท่า เป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือ ซึ่งจีนก็น่าจะทำวัคซีนของตัวเองอยู่เช่นกัน
นพ.ทวีกล่าวว่า ส่วนไทยยังพัฒนาเองไม่ได้ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งแตกต่างจากการทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ไทยอยู่ระหว่างการทำโรงงานผลิตเอง เพราะโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความยากกว่า แต่ไข้หวัดใหญ่มีหลายประเทศทำมาเยอะแล้ว และไทยได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและกระบวนการจากญี่ปุ่น จึงสามารถตั้งโรงงานเพื่อผลิตเองได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในเฟสที่สาม คือ การวิจัยทดลองใช้อยู่ ซึ่งต้องใช้จำนวนคนมากและใช้เวลานาน ซึ่งหากสำเร็จก็จะเข้าสู่เฟสสี่ที่สามารถขึ้นทะเบียนและนำออกมาใช้ได้จริง