สธ.เปิด 6 ขั้นตอนช่วยคนขับแท็กซี่-รถสาธารณะ ลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และลดโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้โดยสารรายอื่น
วันนี้ (2 ก.พ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีทั้งสิ้น 19 ราย รักษาหายเพิ่มออกจาก รพ. 1 ราย รวมเป็น 8 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 11 ราย ทุกรายมีอาการดีขึ้น ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พบเพิ่ม 38 ราย รวมตั้งแต่ 3 ม.ค.- 1 ก.พ. มีทั้งสิ้น 382 ราย แบ่งเป็นคัดกรองจากสนามบิน 40 ราย มาที่รพ.เอง 332 ราย และเป็นมัคคุเทศก์ ศูนย์รับแจ้งผู้ป่วยรายงานเข้ามาอีก 10 ราย โดยอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 71 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงเฝ้าระวังในสถานพยาบาล 311 ราย
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ร่วมมือกันยกระดับการป้องกัน จะเห็นว่า เริ่มมีการทำความสะอาดสถานที่สาธารณะหลายแห่ง โดยเฉพาะพื้นผิวสัมผัสเพื่อลดโอกาสการมีเชื้อในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะเช่น คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ควรทำเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ คือ 1. ทำความสะอาดรถทั้งข้างนอกและข้างใน เน้นพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ โดยสามารถใช้น้ำที่มีสบู่ทำความสะอาดเบาะที่ทำจากพลาสติกได้ แล้วเช็ดออกด้วยน้ำเปล่า 2. หากเจอสารคัดหลั่งภายในรถ เช่น ผู้โดยสารเพิ่งจาม น้ำมูกน้ำลายกระเด็น ก็อาจใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 75% ร่วมด้วย 3. การใช้สารละลายคลอรีนผสมน้ำ อาจเหมาะกับสหกรณ์แท็กซี่ที่มีทรัพยากร 4. การระบายอากาศในรถจากด้านหน้าไปด้านหลัง กรณีที่มีคนไอจามก็เปิดหน้าต่าง เชื้อจะได้ไม่สะสมในรถ 5. ควรมีหน้ากากอยู่ภายในรถ ยิ่งมี 2 ชิ้นยิ่งดี ชิ้นแรกให้คนที่ไอจามและชิ้นที่สองก็นำมาสวมใส่เอง และล้างมือบ่อยๆ
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า 6. เชื้อไวรัสจะไม่ค่อยชอบแดดร้อน แต่จะชอบอากาศเย็นและชื้นจะอยู่ได้นาน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้อีกอย่าง คือ ตอนจอดรถว่างๆ เช่น ตอนไปรับประทานข้าวเที่ยง ก็อาจเปิดหน้าต่างให้รับลมและจอดตากแดด แค่แท็กซี่แดดเดียว มีโอกาสที่เชื้อตาย เพราะบ้านเราอากาศร้อนมาก ก็สามารถปฏิบัติได้ด้วยความปลอดภัย และเวลารับคนขึ้นมา หากเห็นคนไอจามมาก ให้ปิดแอร์ และเปิดหน้าต่าง ปล่อยให้ลมธรรมชาติพัดเข้ามาให้ออกไปทางหน้าต่าง